Social NetworkTwitter

กรณีศึกษาการสร้างกระแสรายการ The Voice ของอเมริกาบน Twitter

ขอตามกระแสรายการประกวดร้องเพลงที่กำลังเป็นที่พูดถึงในสังคมออนไลน์ตอนนี้หน่อย รายการนั้นก็คือ The Voice (เสียงจริง ตัวจริง) ที่ออกอากาศทางช่อง 3 แต่บทความนี้จะไม่พูดถึงตัวเนื้อหาหรือวิธีนำเสนอรายการ เพราะอันนั้นคงรับทราบกันไปพอสมควรแล้ว แต่จะนำเสนอกรณีศึกษาของรายการ The Voice ที่ประเทศอเมริกา เพราะที่นั่น The Voice เป็นรายการที่ผสมผสาน social media เข้ามาใช้ในรายการได้อย่างน่าสนใจครับ

ในอเมริกานั้น The Voice วางทีมงานดูแลสื่อดิจิตอลไว้ถึง 10 คน โดยทีมงานทั้งหมดจะรับผิดชอบการปรับปรุงเนื้อหาเว็บของรายการ อัพโหลดคลิปการแข่งขัน และงานสำคัญที่สุดคือการดูแล social media เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับผู้ชมรายการ โดยเครื่องมือหลักที่รายการใช้คือ Twitter และพยายามสร้างกระแสใน Twitter ช่วงรายการกำลังออกอากาศผ่านแท็กหลักคือ #TheVoice #Push และแท็กของทีมโค้ชแต่ละคน

The Voice นั้นจริงจังกับการสร้างกระแสออนไลน์มาก โดยบริษัทเจ้าของรูปแบบรายการ Talpa Media Group ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์นั้นถึงกับผลิตคู่มือหนา 88 หน้าแล้วเรียกว่า “Digital Bible” ไว้ให้สำหรับประเทศต่างๆ ที่ซื้อลิขสิทธิ์ The Voice ไปผลิตใช้เป็นคู่มือการทำกระแสออนไลน์เลย เพราะรายการในประเทศบ้านเกิดนั้นได้ทดลองนำ Twitter มาผสมผสานในรายการก็พบว่ามีคนเนเธอร์แลนด์ไปสมัครใช้งาน Twitter เพิ่มขึ้นถึง 25% ในช่วงที่รายการออกอากาศ

สำหรับ The Voice – Twitter เครื่องมือการสื่อสารสองทาง

Sjoerd Demaret หัวหน้าฝ่ายดูแลการสื่อสารดิจิตอลของ Talpa Media มองว่า Twitter นั้นช่วยให้รายการ The Voice สามารถติดต่อ สนทนา ตลอดจนสร้างกระแสบอกต่อกับคนดูได้ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของรายการนี้ เขายังมองว่ารายการโทรทัศน์ส่วนใหญ่เห็น social media เป็นแค่เครื่องมือสื่อสารการตลาดไปหาคนดูแบบทางเดียว แต่รายการเหล่านี้ไม่นิยมนำความเห็นคนดูที่โต้ตอบมานำเสนอ ซึ่งไม่ใช่กับ The Voice

โปรดิวเซอร์ของ The Voice อเมริกาเล่าว่าในคู่มือนั้นระบุว่าโค้ชและผู้แข่งขันทุกคนควรมีบัญชี Twitter ของตนเองเพื่อสื่อสารกับคนดูให้มากที่สุด ซึ่งตอนเริ่มรายการนั้นมีเพียงโค้ช Christina Aguilera (@TheRealXtina) ที่ไม่ได้เล่น Twitter ทำให้ทีมงานต้องอธิบายกับเธอถึงเหตุผลที่เธอควรเล่น Twitter ว่ามันไม่ใช่แค่รายการที่ได้กระแสแต่ตัวเธอเองก็จะเพิ่มฐานแฟนเพลงได้ด้วยเช่นกัน รวมถึงสามารถสื่อสารถึงผลงานต่างๆ ได้ด้วยในอนาคตแม้รายการจะจบปีการแข่งขัน (ในสัปดาห์แรกที่ The Voice ออกอากาศ Christina มี followers 2 หมื่นกว่าคน แต่ตอนนี้มีมากกว่า 2 ล้านแล้ว)

คู่มือนี้ระบุว่าทีมงานต้องสั่งผู้แข่งขันให้มีบัญชี Twitter ด้วยไว้ติดต่อสื่อสารกับโค้ชหรือคนดูรายการ โดยเฉพาะช่วงท้ายของรายการที่เป็นการถ่ายทอดสดการประกวด ซึ่งนี่เป็นวิธีคิดที่ตรงข้ามกับรายการประกวดร้องเพลงชื่อดังคู่แข่งอย่าง American Idol ที่กำหนดห้ามมีช่องทางสื่อสารออนไลน์กับคนดูเพื่อลดความได้เปรียบเสียเปรียบ ในส่วนนี้โปรดิวเซอร์รายการมองว่าการยอมให้ผู้แข่งขันมีบัญชี Twitter ระหว่างรายการน่าจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายมากกว่า รายการได้กระแส ผู้แข่งขันได้ขยายฐานแฟนเพลงตั้งแต่รายการยังไม่จบ คนดูได้ติดต่อสื่อสารหรือออกความคิดเห็น

ผลจากการวางกลยุทธ์ด้าน social media ทำให้รายการ The Voice เป็น Trending Topic ทุกครั้งที่รายการกำลังออกอากาศในอเมริกา และสูงมากขึ้นเมื่อเป็นช่วงท้ายที่เป็นการถ่ายทอดสดการประกวดและให้คนดูโหวตตัดสิน ตัวรายการยังเป็นที่พูดถึงใน Twitter มากที่สุด แซงหน้าซีรี่ส์ Glee ที่ก่อนหน้านี้เป็น Trending หลักมาหลายปี ที่น่าสนใจคือ 70% ของทวีตที่เกี่ยวกับรายการล้วนติดแท็ก #TheVoice ไว้ท้ายทวีตด้วย ผลการศึกษายังพบอีกว่ารายการนี้เป็นที่พูดถึงในโลกออนไลน์สูงกว่า American Idol ถึง 5 เท่า

ย้อนกลับมาดู The Voice Thailand

รายการ The Voice ของไทยนั้นดูเหมือนจะเดินตามรูปแบบการสื่อสารออนไลน์ตามคู่มือเลย ตั้งแต่บัญชี @thevoicethai ที่เป็น verified account ซึ่งในช่วงนี้ยังเน้นการสื่อสารทางเดียวและอัพโหลดคลิปการประกวดเป็นหลัก ขณะที่โค้ชทั้ง 4 คนนั้น โจอี้ บอย (@joeybangkokboy) และสแตมป์ อภิวัชร์ (@StampApiwat) เล่น Twitter อยู่ก่อนแล้วจึงไม่มีปัญหา แต่พบว่าอีกสองคนคือ ก้อง สหรัถ (@KongSaharat_) และเจนนิเฟอร์ คิ้ม (@JKim4real) นั้นเพิ่งสมัคร Twitter เพื่อรายการนี้เลย โดยระหว่างรายการออกอากาศนั้นการนำทวีตข้อความมาแสดงบนจอ ก็มีเพียงของโค้ชทั้ง 4 คนเท่านั้นในตอนนี้ ซึ่งต้องรอดูช่วงออกอากาศสดต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร

ในส่วนของการสร้างกระแสระหว่างออกอากาศนั้นก็มีการกำหนดให้ใช้แท็ก #TheVoiceTH (คล้ายกับประเทศอื่นที่ซื้อลิขสิทธิ์ไปทำคือห้อยชื่อประเทศให้แยกกัน) ซึ่งเมื่อวัดความเป็นกระแสจากข้อมูลในสัปดาห์ล่าสุดจาก ThaiTrend แล้วพบว่าน้อยกว่ารายการ AF9 เสียอีก (ฮา) ก็ต้องมาดูกันต่อไปว่าสุดท้ายแล้ว The Voice ของไทยจะนำ Twitter มาใช้มากน้อยและจะได้ผลแค่ไหนครับ

เรียบเรียงจากThe Hollywood Reporter และ Mass Relevance

SHARE :
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
arjin
the authorarjin
ผู้เขียนข่าวสาระกึ่งบันเทิงเชิงโดนบีบบังคับประจำ Faceblog ติดตามงานทั้งหมดที่ fb.com/arjinblog ฮะ ♥