All PostFacebookSocial NetworkTwitter

#บ้านเบี้ยว ความจริงที่บิดเบือนหรือใจที่บิดเบี้ยว? : กรณีกระหน่ำเด็กบ้านเบี้ยวในโลกออนไลน์

บทความนี้นำมาจากคุณ ธาม เชื้อสถาปนศิริ (เสียดายที่แหล่งข้อมูลโดยตรงหายไปแล้ว) ตอนแรกก็ชั่งใจว่าจะลงดีหรือไม่ลงดี แต่พอดีเห็นข่าวว่าแม่ของน้องไปดำเนินการแจ้งความกับเรื่องดังกล่าวแล้ว รวมถึงประเด็นที่คุณธามพูดถึงมีความน่าสนใจในหลายๆ บริบท ก็เลยอยากนำมาให้อ่านเป็นกรณีศึกษากันฮับ

หมายเหตุ: บทความนี้ได้ทำการขออนุญาตเจ้าของบทความก่อนนำมาลงแล้วนะฮับ แล้วก็ถ้าหากจะคอมเมนต์ ก็ขอให้คอมเมนต์กันอย่างสุภาพชนนะจ๊ะ


#บ้านเบี้ยว
ความจริงที่บิดเบือนหรือใจที่บิดเบี้ยว?
: กรณีกระหน่ำเด็กบ้านเบี้ยวในโลกออนไลน์

ธาม เชื้อสถาปนศิริ, timeseven@gmail.com
นักวิชาการด้านสื่อ, สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) ไทยพีบีเอส

ผมไม่ได้ตั้งใจที่จะรู้ข่าวนี้ แค่อยากรู้ว่ากระแสข่าวคุณเจนี่ในโลกออนไลน์เป็นอย่างไร ก็เข้าไปดูสถิติที่ http://www.lab.in.th/thaitrend/ ซึ่งจะบอกว่าในโลกทวิตเตอร์ อะไรฮิตเป็นเทรนด์เท่านั้น จนกระทั่งเจอ hash tag อันดับท้ายๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวล นั่นคือ กรณี #เอื้อยบ้านเบี้ยว และ #เอื้อยร้องไห้ทำไม

ผมเห็นกระแสข่าวนี้กำลังพูดถึงมากในโลกออนไลน์ (แม้อันดับมันไม่อยู่ต้นๆ แต่มันคือเหตุการณ์ที่น่ากังวล) กรณี #เอื้อยบ้านเบี้ยว และ #เอื้อยร้องไห้ทำไม กำลังกลายเป็นเหตุการณ์เล็กๆ ที่ไม่เล็กกรณีเด็กสาววัยละอ่อนหน้าตาดีคนหนึ่ง ถูกประณามว่าบรรดารูปถ่ายที่เธออัพ ขึ้นโลกโซเชี่ยลมีเดียนั้น “ผ่านการดัดแปลง” โดยมักปรับแต่งค่าสีผิว และ ซูมหน้าขยายใหญ่จนฉากหลัง บ้าน อาคารอื่นๆ บิดเบี้ยวไปจากความเป็นจริง นัยยะก็คือ เพื่อทำให้หน้าตาเธอดูสวยน่ารักขึ้น

ความจริงน้องคนนี้เป็นข่าวมานานแล้ว แต่ก็เริ่มมาเป็นประเด็นที่น่ากังวล เนื่องจาก ตอนนี้ กระแสชาวเน็ตจับได้ว่า เธอแต่งรูปเพื่อทำให้ตนเองดูดี และตอนนี้เธอก็โดนกระหน่ำ ด่า ว่า และวิพากษ์กันอย่างเมามันจากโลกออนไลน์ โดยเปรียบเทียบเธอกับเน็ตไอดอลคนอื่นๆ ที่ไม่ได้แต่งรูป

และตอนนี้ รูปภาพเก่าก่อนของเธอที่เคยแสดงสู่สาธารณะ กำลังโดนชาวเน็ตตามสืบเสาะเพื่อแจกแจงว่าเธอเป็นคนโกหกหรือมีพฤติกรรมในทางลบเช่นไรบ้าง

เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมาก และมันมี 3 ประเด็นสำคัญที่เราควรทำความเข้าใจ

(1) กระแสบิดเบี้ยว?

กระแสทางลบโหมวิจารณ์รุนแรง ต่อเด็กสาววัยรุ่น ที่กำลังพัฒนาไปในทางที่น่ากลัว ทั้งจากการที่มันเป็นที่กล่าวถึงในทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊ค จนกลายเป็นข่าวเล็กๆ (แต่ใหญ่มากในวงเด็กๆ) “น้องเอื้อยโลกเบี้ยว เน็ตไอดอลFAKEบุคคนใหม่แห่งปี 2013”
มันเป็นกระแสสังคมออนไลน์ ที่เต็มไปด้วย การตรวจสอบ การประจาน การประณาม การด่า บริภาษเด็กสาวคนหนึ่ง ว่าด้วยเธออยากดัง จนต้องอัพรูปเพื่อสร้างสถานะทางสังคม

ใน ทางหนึ่ง มันเป็นการส่งสารความเกลียดชัง (hate speech) มากเกินไป จนเรา-ผู้ใหญ่ และวัยรุ่นในออนไลน์ รับกับผลที่จะเกิดขึ้นตามมาไม่ได้

หลายข้อความอาจแรง จน เราไม่รู้ว่า น้องคนนี้/เจ้าตัว จะรู้สึกไปไกลขนาดไหน

เหล่า นี้ย้อนให้ผมนึกถึง “มาตรการลงทัณฑ์ทางสังคม” หรือ “social sanction” หลายๆ ครั้งที่เคยเกิดขึ้น ล่าสุดตอนนี้มีคนตั้งเพจที่รวมกลุ่มคนเกลียดน้องคนนี้แล้วในโลกออนไลน์ แม้จะไม่มาก แต่ก็น่ากังวล เพราะมันคือการต่อสู้ระหว่างกลุ่มที่ “รักและเกลียด” ที่เน้นเชิงอารมณ์มากกว่า

ในโลกออนไลน์ “กระแสความสนใจของผู้คน” เปรียบเสมือนวิญญาณหล่อเลี้ยงชื่อเสียงของบุคคล มันถูกสร้าง ถูกปั่น ถูกโต้ตอบ ปะทะ แลกเปลี่ยน ผ่านความนิยมและสถานะทางสังคมของคน นั้น ที่น่ากลัวคือ กระแสเหล่านี้ มันบิดได้ เปลี่ยนได้ ไม่ได้เป็นเชิงบวกเสมอไป และเมื่อมันถูกกระแสอารมณ์พาไป มันย่อมไปจบลงที่ใดก็ได้ระหว่างความชื่นชมหรือชิงชัง

ที่น่ากลัวคือ คนที่ต้องรับพายุอารมณ์ออนไลน์นั้น “มีภูมิคุ้มกันมากน้อยเพียงใด?”

(2) เหยื่ออารมณ์ออนไลน์

น้องผู้หญิงผู้ตกเป็นประเด็น อาจมีปัญหาที่พ่อแม่ ควรกังวล ไม่ใช่เพราะเธอแต่งรูป แต่เพราะเธอกำลังเป็นเช่นวัยรุ่นหลายคนในไทย ที่ตกอยู่ในภาวะ “อยากเด่นดัง มีชื่อเสียง และได้รับการยอมรับจากสังคม”

หรือตกอยู่ในภาวะลุ่มหลงในตนเอง ด้วยการพยายามทำทุกอย่างเพื่อมีคน กดไลค์ เพื่อมียอดคนติดตาม เพื่อมีคนมาขอเป็นเพื่อน และเพื่อมีคนมาชื่นชอบ ชื่นชม ในความสวย หน้าตาน่ารัก ซึ่งไม่มีอะไรนอกจากอย่างอื่น

ผมเชื่ออย่างสุดหัวใจว่ายังมีวัยรุ่นอีกมากมาย ที่ไม่ตระหนักว่าตนเองตกเป็นทาสของสื่อใหม่ และอัตลักษณ์ตัวตนอันหลากหลายและสับ สนของพวกเขา ในโลกออนไลน์ปัจจุบัน ที่พวกเขามี คือความไม่มั่นใจในตนเอง ไม่เชื่อในสิ่งที่ตนเองมี และเอาตนเองเป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง และคิดว่าตนเองมีค่าได้เพราะคนอื่นให้ค่าความสำคัญแก่ตนเองผ่านชื่อเสียง หน้าตาเป็นสำคัญ
หลายๆคน ก็กำลังสร้างสถานะทางสังคมออนไลน์ผ่านการอัพรูปและเรื่องราวชีวิตส่วนตัวเพื่อมัน

และผมเชื่อว่า บางทีผู้ใหญ่หลายๆ คนก็เป็น

ที่จริงแล้ว พวกเขามีปัญหา เป็นคนขี้เหงาและไม่มั่นใจ จนต้องแสวงหาคุณค่าตนเองจากหน้าตาภายนอก และไม่รู้ว่าตนเองมีคุณค่าอย่างไรจากภายใน จนต้องพึ่งพิง พึ่งพาการยอมรับจากผู้คนแปลกหน้าใน โลกออนไลน์ ที่พวกเขาไม่รู้จัก แต่เขารู้สึกดีเช่นดาราดังๆ ที่ตกเป็นที่สนใจ (เช่นกรณีเจนี่ สะท้อนว่าสังคมออนไลน์ของไทย สนใจเรื่องราวดารา คนสาธารณะ มากกว่าประเด็นปัญหาสังคม บ้านเมือง)

(3) ผู้ใหญ่ พ่อแม่ เท่าทันลูกไหม?

เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ อาจสะท้อนว่าพ่อแม่ ผู้ปกครองนั้น ไม่เท่าทันสถานการณ์ความกดดันจากสังคมออนไลน์ที่อาจมีอิทธิพลต่อลูกๆ คุณครู พ่อแม่ หรือผู้ใหญ่หลายคนอาจไม่เท่าทันเด็กๆ ด้วยซ้ำไป เพราะพวกเขา “สร้างตัวตนในโลกออนไลน์” อีกแบบ และผู้ใหญ่บางคน ก็อาจตกอยู่ในความลุ่มหลงตัวตนเองอยู่ด้วย

ส่วนตัวผมคิดว่าสถานการณ์นี้มันอันตรายมาก ที่จะปล่อยให้สองอย่างนี้เกิดขึ้น ทั้งคนหลงตัวเอง คนขี้อิจฉา เพราะทั้งสองกลุ่ม ต่างก็ลงเอยที่ความเห็นแก่ตัวและความเกลียดชัง

และยิ่งอันตราย ถ้าทั้งสองกลุ่มกำลังเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนของเรา โดยที่ผู้ใหญ่อย่างเราไม่ทำอะไรเลย!

เพราะกระแสข้อมูลความเกลียดชังออนไลน์ที่ถาโถมใส่ใครคนใดคนหนึ่งนี้ “จะคงอยู่ในโลกออนไลน์นั้นอย่างยาวนาน” ในโลกเฟซบุ๊ค หรือทวิตเตอร์ มันไม่เหมือนในโลกจริง ชีวิตจริง ที่เราฟังไปแล้วอาจจะลืม

สิ่งที่น่ากังวลตอนนี้คือ “คนไทย/ชาวเน็ตไทย” กำลังใช้กระแสอารมณ์กับทุกๆ เรื่อง และโดยมาก มักเป็นไปอย่างไม่รู้เท่าทันอารมณ์ตนเอง

เรากำลังกลายเป็นสังคมความเห็นความรู้สึกนำเหตุผล

ผมถามจริงๆ ว่า สำหรับคนที่อัพรูปตนเองนั้น พวกคุณ หรือเราๆ ไม่เคยแต่งรูปเพื่อให้ตนเองดูดีเลยละหรือ? ไม่เคยแต่งสีผิว หรือขยายรูป ตัดทอนส่วนหน้าตาให้ดูเรียงเล็กลงจริงหรือ?

ที่เราควรรู้เท่าทัน มิใช่ความจริงในโลกอินเตอร์เน็ตเพียงอย่างเดียว มิใช่รู้ว่าความจริงมันประกอบสร้างกันได้ ภาพลักษณ์เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมา กระทั่งเด็กสาวมีโทรศัพท์มือถืออยากอัพรูปสวยๆ และทำบางอย่างด้วยวัยของเขา ที่ถูกสังคมประกอบสร้างความเชื่อว่า “ดังแล้วดี”

ลองนึกถึงนักการเมืองคดโกงสร้างภาพ ดูดี หลอกลวงประชาชน หาเสียงเฉพาะตอนเลือกตั้ง ออกข่าว ทำงานสร้างภาพเอาหน้า ผมว่ามันน่าเกลียดกว่ากันเยอะ เช่นนั้น ควรจะไปตรวจสอบกันให้มากขึ้น สำหรับคนโกงชาติมากมายที่ยัง “มีหน้ามีตาในสังคม”
นักการเมือง ดาราก็สร้างภาพกันทั้งนั้น และใช้ข่าว เหตุการณ์ ความจริง ความลวงมากกว่าแอพพลิเคชั่นแต่งรูปกันเสียอีก

และสื่อมวลชนนักข่าวบางคน ก็กลายเป็นเครื่องมือในการสร้างภาพลวงให้กับเราในสังคมมากมาย กระทั่งงานโฆษณาสินค้าบริการต่างๆ ก็ผ่านเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ประกอบสร้างความจริงอันสวยงามกันทั้งนั้น!

ใช่ เราควรจะรู้เท่าทันความจริง ความลวงในเรื่องที่ทำปัญหาให้กับเรา ปัญหาของสังคมในส่วนรวมด้วย และที่สำคัญ เราควรรู้เท่าทันเทคโนโลยี และเท่าทันอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง
หลายปีก่อน เรามีกรณีเด็กสาวคนหนึ่งโดนประณามในโลกอินเตอร์เน็ตด้วยความเกียดชังในสิ่งที่เธอคิด และสังคมก็ “ลงทัณฑ์” อย่างไม่น่าเชื่อ เพราะด้วยความเกลียดชัง และครั้งนี้ เราก็อาจกำลังทำสิ่งเลวร้ายนั้นอีกครั้ง เพียงเพราะเธออยากดัง แต่งรูป และต้องการความสนใจ

ผมไม่รู้ว่า เธอหรือเราใครกำลังมีปัญหา หรือเราอาจมีปัญหากันทั้งหมด หรือที่สุดแล้วเราอาจตกเป็นเหยื่อความจริง ตกเป็นเหยื่อความหลงตนเอง

อย่าตกหลุมอารมณ์แห่งความเกลียดชังเด็กคนหนึ่งเลย ถ้าเราไม่เคยสังเกตว่าโลกที่เราอาศัยอยู่มันบิดเบี้ยวขนาดไหน หรือเราเองก็มีส่วนเชื่อและสร้างความบิดเบี้ยวนั้นขึ้นมาด้วย

อย่าให้ความเป็นจริงที่บิดเบี้ยว มาทำให้จิตใจเราบิดเบี้ยวไปด้วยเลย!

หยุดการประณาม การใช้ความเกลียดชังในอินเตอร์เน็ต!

SHARE :
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
Bluemoon
the authorBluemoon
I come from B612 star, nerd, greedy, moody, lazy, Facebook Development, social Networking. almost Blog in Thai but English OK. ^^