ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีเรื่องเด่นประเด็นเดือดในแวดวง Social Network ว่าด้วยเรื่องของการออกมาแจ้งดำริว่าจะปรับปรุงกฏการให้บริการ (Term of Service) ของ Instagram โดย Instagram บอกว่าหลังจากวันที่ 16 มกราปีหน้านี้ สิ่งที่จะเปลี่ยนหลักๆ ก็คือจะทำให้กฏใหม่นี่สามารถเอื้ออำนวยให้ Instagram และ Facebook สามารถถ่ายโอนข้อมูลของผู้ใช้ระหว่างกันได้ ซึ่งสามารถทำให้สร้างระบบป้องกันสแปมได้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม และก็จะเอาข้อมูลของผู้ใช้บางส่วนไปเป็นฐานของการโฆษณานั่นเอง (อารมณ์เหมือนโฆษณาใน Facebook ตอนนี้ ที่จะโชว์ขึ้นมาแล้วก็บอกว่า มีเพื่อนของเรากด like เพจนี้อยู่ นู่นนี่นั่น)
ในกฎของ Instagram ที่ออกมาปรับปรุงใหม่ โดยเฉพาะในส่วนของ Rights หรือสิทธิของเรา 10 ข้อ คือ
- Instagram ไม่ได้เป็นเจ้าของภาพหรือเนื้อหาใดๆ , การโพสต์ข้อความหรือภาพลงใน Instagram คือการอนุญาตให้เอาคอนเทนต์นั้นไปใช้ได้ ยกเว้นว่าคุณจะตั้งค่าความเป็นส่วนตัวเอาไว้ (ถ้าล็อกโปรไฟล์แสดงว่าไม่ให้ใช้คอนเทนต์ทุกอย่างนั่นเอง)
- การใช้งานของ Instagram อาจจะมีส่วนที่มีเรื่องโฆษณาหรือผู้สนับสนุน ซึ่ง Instagram มีสิทธิ์เอาภาพ เอาข้อมูล หรือเอาสิ่งที่เขียนในนั้นไปให้ใช้ในโฆษณาได้, และถ้าคุณอายุ 18 (ซึ่งในบางประเทศถือว่าข้อมูลพวกนี้เอาไปใช้ไม่ได้) ก็ถือว่าเมื่อคุณมาสมัครใช้งานก็เท่ากับว่ามีผู้ปกครองดูแลและยินยอมแล้วในกฎข้อนี้
- Instagram มีสิทธิ์จะโชว์โฆษณาอะไรก็ได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องบอกก่อนว่านี่คือโฆษณา (ไม่ต้องใส่คำว่าพื้นที่โฆษณาแบบหนังสือพิมพ์)
- อะไรก็ตามที่คุณโพสต์ลงใน Instagram ต้องเป็นของๆ คุณ ไม่ใช่ของผิดกฎหมายหรือไปถ่ายสิ่งที่ไม่ได้รับอนุญาต ถ้าคุณไปได้ภาพมาอย่างผิดกฎหมายหรือไปละเมิดลิขสิทธิ์คนอื่นมาโพสท์ในInstagram Instagramไม่รับผิดชอบนะ คุณต้องรับผิดชอบเอง (มันคือข้อตกลงที่มีตอนสมัครอยู่แล้ว)
- ภาพหรือข้อมูลที่ผ่านกระบวนการแต่งเติมด้วยฟังก์ชั่นของInstagram เป็นสิทธิของInstagram (ส่วนต้นฉบับน่ะของคุณ)
- ห้ามเอาโลโก้ หรือภาพหน้าจอของ Instagram ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต (อันนี้เข้าใจว่าในเชิงพาณิชย์นะ ถ้าเป็นเว็บข่าวจะไม่ใช้รูปหน้าจอ Instagram ได้อย่างไรกัน..)
- ถ้าเว็บล่มอย่าโทษ Instagram ถ้าข้อมูลหายก็อย่าโทษ Instagram มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกันได้
- ถ้าคุณโพสต์เนื้อหาที่ผิดกฎหมายใน Instagram คุณคือคนที่ต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่มาบอกว่าเป็นหน้าที่ของ Instagram ที่ต้องแก้คำเหล่านั้นก่อนเผยแพร่
- คล้ายๆ ข้อ8 แต่บอกประมาณว่าความสัมพันธ์ระหว่างInstagramและผู้ใช้ คือความสัมพันธ์ที่ไม่มีอะไรเกินเลย ไม่มีอะไรลึกซึ้งเป็นพิเศษกว่าที่กล่าวไป อย่าเข้าใจผิดว่าจะต้องช่วยเหลือคุณทุกอย่างน้าว์
- Instagram มีนโยบายขอไม่รับคำแนะนำ การออกแบบ ไอเดีย ใดๆ เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดว่าการพัฒนารูปแบบของInstagramเป็นสิ่งที่คุณเสนอ ถ้าบังเอิญแนวทางการปรับปรุงพัฒนาของInstagramไปเหมือนกับคอนเทนต์ที่คุณเขียนมาก็ไม่เกี่ยวกัน … ดังนั้นเพื่อป้องกันความเข้าใจผิด ถือว่าต่อให้คุณเสนออะไรให้ Instagram แล้ว Instagram เอาไปทำตาม ก็ถือว่าเป็นการให้คำแนะนำฟรีๆ นะ อย่ามาเรียกเก็บเงินจากเรา
(เรียบเรียงมาจากคำแปลของพี่ หมอแมว)
— ทั้งนี้รูปที่อัปก่อนวันที่่ 16 มกรา เค้าก็ให้ใช้กฎเดิมไปนะ
ทีนี้กระแสตอบรับของผู้ใช้ในเรื่องนี้ก็มีผู้ใช้บางส่วนที่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย เนื่องจากกฏบางข้อมันคลุมเครือและสร้างความเข้าใจผิดได้ง่าย (คือมันก็เป็นภาษากฎหมายที่ตีความได้หลายหลากอะเนอะ) อย่างเป็นต้นว่า Instagram เป็นเจ้าของรูปที่ใส่ฟิลเตอร์…แล้วงี้แสดงว่า Instagram เอารูปเราไปขายเราก็ไม่มีสิทธิ์ฟ้องน่ะสิ!? นี่มันจะมากเกินไปป้ะเนี่ย (อันนี้เป็นประเด็นที่ CNET เอามาเล่น) แต่ทีนี้หลังจากกระแสตอบรับของผู้ใช้ยังเป็นไปในด้านลบซะเป็นส่วนมาก Instagram จึงออกมาเขียนชี้แจงใหม่อีกรอบ
เพื่อชี้แจงว่า Instagram ได้รับฟังความเห็นของผู้ใช้นะ และจะจัดการปรับข้อผิดพลาดรวมถึงภาษาที่ทำให้ผู้ใช้เกิดความสับสน และมีประเด็นที่จะชี้แจงต่อผู้ใช้คือ
ว่าด้วยการโฆษณาใน Instagram ตั้งแต่เริ่มต้น Instagram คือธุรกิจ และการโฆษณาคือหนึ่งในหลายๆ ทางที่ Instagram จะใช้มาเป็นวิธีสร้างรายได้ให้ตัวเองดำเนินต่อไปได้ (และยังมีอีกหลายทาง) แต่การขายรูปของผู้ใช้ไม่ใช่สิ่งที่ Instagram จะทำแน่นอน และจะไปปรับแก้กฎข้อที่ทำให้ผู้ใช้เกิดความสับสนในข้อนี้
ส่วนตัวอย่างของการโฆษณานั้น Instagram ยกตัวอย่างว่าถ้าผู้ใช้หรือแบรนด์ใดต้องการที่จะโปรโมตรูปหรือ account ของตัวเอง ก็แสดงว่าอาจจะต้องมีแผนโปรโมตโดยที่ Instagram จะสร้างวิธีโปรโมตแบรนด์เหล่านี้ขึ้นมาซักทาง การโปรโมตแบรนด์ด้วยการลงโฆษณาและมีการดึงข้อมูลผู้ใช้มาแสดง (เหมือนโฆษณาใน Facebook) มันทำให้เกิดแรงจูงใจต่อผู้ใช้อีกคนได้ว่า อ๊ะ เพื่อนเราก็กด follow แบรนด์นี้นี่หว่า งั้นฉันกดตามบ้าง อะไรงี้ ซึ่งการเอาข้อมูลตรงนี้ของผู้ใช้มาใช้ก็จะทำให้ผู้ใช้เองได้มีโอกาสเห็นแบรนด์ที่ตัวเองสนใจ และแบรนด์ก็จะได้คนตามที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ก็วินๆ ทั้งสองฝ่ายนะจ๊ะ
นอกจากนี้เรื่องของสิทธิ์การเป็นเจ้าของรูปภาพและสิทธิ์ในการให้คนอื่นมาดูรูปก็ยังเหมือนเดิม Instagram ไม่ได้จะแอบอ้างเป็นเจ้าของรูปอะไรของเราทั้งสิ้น และถ้าเราล็อกโปรไฟล์ไว้ คนที่เรายอมให้ตามเท่านั้นที่จะเห็นรูปของเรา
ก็ไม่รู้ว่าหลังจาก Instagram ออกมาชี้แจงขนาดนี้ จะมีผู้ใช้ที่เปลี่ยนความคิดอีกหรือไม่ แต่ Nationnal Geographic ก็ออกมาแสดงความเห็นเปรี้ยงผ่าน Instagram ว่าอาจจะไม่มีการโพสต์รูปอีกต่อไป เพราะไม่มั่นใจใน Term of Service อันใหม่ และถ้ายังเป็นแบบนี้ต่อไปก็อาจจะลบบัญชีของตัวเองทิ้ง (แต่ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพอดีกับตอน Instagram เขียนบล็อกชี้แจงตอนใหม่นะ ก็ต้องมาดูว่า National Geographic จะลบบัญชีตัวเองทิ้งจริงๆ หรือไม่ย์ย์ย์)
ในเรื่องของ Term of Service ของ Social Media ต่างๆ นั้น เอาเข้าจริงแทบไม่ต่างกันเท่าไหร่ คือไม่ว่าเราจะล็อกหรือตั้งค่าความเป็นส่วนตัวแค่ไหน เจ้าของบริการนั้นๆ ก็ยังมีสิทธิ์ที่จะเอาข้อมูลของเราไปเป็นฐานข้อมูลเพื่อทำอะไรต่อมิอะไรนั่นเอง อย่าง Facebook ต้องการให้เรากรอกอายุ เพศ การศึกษา ความสนใจ เพื่อเติมเต็มประวัติในหน้า Profile เรา และก็เอาประวัติเราไปเป็นฐานข้อมูลให้คนมาเลือกลงโฆษณาได้ตรงตามกลุ่มเป้าหมาย นู่นนี่นั่น คือโลกนี้เอาเข้าจริงมันไม่มีอะไรฟรี เราอาจจะโพสต์รูป, ทวีต, คุยไลน์ หรือแชตผ่าน Facebook โดยที่เราคิดว่าแค่เสียค่าอินเทอร์เน็ต แต่จริงๆ เค้าก็เอาข้อมูลเราไปทำตังค์เหมือนกัน (ฮ่า)
ก็ลองชั่งตวงวัดกันเอาเองดูว่าคุ้มไหม ยอมได้ไหมถ้าจะโดนเอาข้อมูลไปใช้ ถ้ายอมไม่ได้การปิดบัญชีก็คือทางออกสถานเดียวล่ะฮับ แต่ทั้งนี้การเปลี่ยน Term of Service แล้วมีสื่อหรือคนออกมารวมตัวกันแสดงความเห็นนี่ก็ถือเป็นเรื่องดีนะ เพราะถ้าไม่รวมตัวกันต่อต้าน เค้าก็อาจจะออกกฏข้อบังคับพิเรนทร์ขึ้นไปอีกก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นการติดตามเรื่องทำนองนี้เอาไว้และออกมาแสดงความเห็นเพื่อรักษาสิทธิ์ก็เป็นเรื่องไม่เสียหายอะไรจ้ะ