สิ่งที่เรียกว่า Hashtag ตอนนี้ กลายเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็รู้จักกันเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้อย่างเราๆ ท่านๆ แบรนด์สินค้าต่างๆ หรือจะเป็นรายการบนทีวีก็ยังใช้ Hashtag ในการแชร์โมเมนท์ต่างๆ กัน (อยากรู้ประวัติของ Hashtag ตามไปอ่านได้ที่นี่) แต่ถ้าจะให้พูดถึง Social Network ที่ใช้ประโยชน์จาก Hashtag ได้ดีที่สุด ก็คงไม่พ้น Twitter นั่นเอง อย่างที่รู้ๆ กันว่าการใช้งาน Hashtag บน Twitter นั้นมันง่ายต่อการค้นหาและสามารถนำไปวัดผลจากผู้ใช้งานได้แบบเรียลไทม์สุดๆ เลยทำให้ตอนนี้มันได้รับหน้าที่เป็นสื่อสำคัญในการอำนวยความสะดวกระหว่างผู้ชมโทรทัศน์กับสื่อผ่าน Twitter ซึ่งผู้ใช้เองในปัจจุบันก็มักจะใช้ Hashtag นี่แหละ ในการจะสื่อสารกับผู้ใช้คนอื่นๆ ว่าเรากำลังพูดถึงอะไร ซึ่งสื่อโทรทัศน์เองก็เช่นกันที่ต้องการผลจากผู้ชมแบบเรียลไทม์ เลยจับ Hashtag บน Twitter มาวิเคราะห์และประมวลผล เลยทำให้แทบจะเป็นหัวใจสำคัญของการวัดผลผู้ชมได้เป็นอย่างดี จากผลของ Measured Reaction ล่าสุดนั้น ได้วัดผลในอเมริกาว่า 73 เปอร์เซ็นต์ของรายการโทรทัศน์ในช่วง primetime (เปรียบง่ายๆ ก็ช่วงหลังข่าวภาคค่ำนั่นแหละ) ของ 10 สถานีหลักและรายการเคเบิ้ลต่างๆ ได้ใช้ประโยชน์จาก Hashtag ผ่าน Twitter นี้เพื่อเป็นตัวสื่อสารระหว่างผู้ชมกับรายการในช่วง Q1-Q2 ในปีที่ผ่านมา
ในความเป็นจริงเนี่ย Hashtag ของรายการโทรทัศน์ต่างๆ บน Twitter ก็มีมากมายมหาศาลซะเหลือเกิน แล้วทำอย่างไรให้ Hashtag ของเรามันโดดเด้งท่ามกลาง Timeline ของผู้คนเพื่อเรียกร้องความสนใจได้ ถ้าลองยกตัวอย่างในเคสของประเทศไทย การใช้งาน SMS เริ่มลดลงพอสมควร สื่อเลยหันไปจับผลทาง Social Network ให้ลองสังเกตกันง่ายๆ ว่าช่วงเวลา primtime นั้น Hashtag ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับละครซะส่วนใหญ่ ตามมาด้วยรายการต่างๆ ถามว่าถ้ามันเป็น Hashtag ที่ถูกพูดถึงเกี่ยวกับรายการ อาจจะเก็บมาวัดผลเรื่องสถิติผู้ชมได้ แต่มันก็อาจจะดูไม่น่าสนใจซักเท่าไหร่ เพราะเราก็จะรับรู้แค่ว่า อ๋อ คนนี้ดูละครเรื่องนี้อยู่นี่เอง ผู้ผลิตสื่อก็ได้รับแค่ผลของผู้ชมแต่ไม่ได้สื่อสารกับผู้ชมแม้แต่น้อย แต่ถ้าเราลองปรับเปลี่ยนให้ผู้ใช้เริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับรายการของเราหละ จะเป็นยังไง
มองย้อนกลับไปตอนที่ The Voice ออกอากาศ รายการนี้ใช้ Twitter ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากๆ แม้แต่ Hashtag เองที่คอยขึ้นมาย้ำเสมอว่าตอนนี้เหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นอยู่ แสดงความเห็นแล้วอย่าลืมใส่ Hashtag นี้นะ วิธีนี้ก็ช่วยให้ผู้ใช้และผู้ผลิตรายการรับรู้ถึงผลลัพธ์ ณ ตอนนั้นได้เป็นอย่างดีว่าผู้ใช้ดูเราอยู่จริงๆ ไม่ได้ชมย้อนหลังแน่นอน และยังสามารถใช้แอคเคาท์ของผู้ผลิตสื่อสารกับผู้ชมได้ ณ ตอนนั้นเลย (อ่านกรณีศึกษา The Voice กับ Twitter ที่นี่)
และนี่คือกลยุทธ์ที่ Twitter ได้สรุปออกมาว่า ใส่ Hashtag อย่างไรให้ผู้ชมรายการมีส่วนร่วมกับรายการของเราได้มากขึ้น เริ่มตั้งแต่
- ใส่ชื่อรายการ : อันนี้ไม่มีไม่ได้แน่นอน เพราะเราจะได้วัดผลว่ามีผู้ชมเราอยู่หรือเปล่า เช่น ดูน้ำตากามเทพก็แนะนำเลย #น้ำตากามเทพ หรือ #GTHStupidCupid ไรงี้
- ใช้คำว่า ‘team’ แล้วตามด้วยใช้ชื่อนักแสดงหรือชื่อแขกรับเชิญ : อันนี้เหมือนจะเกิดจาก The Voice นี่แหละเป็นเจ้าแรกๆ ที่ใช้ ตรงนี้เราจะวัดผลของผู้ชมรายการได้ว่าชื่นชมใครเป็นพิเศษมั้ยในขณะที่รายการกำลังฉายอยู่ เช่น อาจจะมีการเล่น Hashtag #teamหญิงย่า หรือ #teamอารยา เพื่อเป็นการวัดผลว่าผู้ชมกำลังพูดถึงใครมากที่สุด ซึ่งถ้าเราไม่ใช้คำว่า ‘team’ อาจจะทำให้ค่าเฉลี่ยหายไปได้
- อธิบายเหตุการณ์ด้วย 15-17 ตัวอักษร : บางที Hashtag ก็เกิดจากการวลีแปลกๆ หรือคำพูดเจ๋งๆ ที่เกิดขึ้นภายในรายการได้เหมือนกัน เช่น #ตบมันเลยค่ะหญิงแม่ หรือ #ด่าย่าว่าควายเลยดีกว่า ซึ่ง Hashtag เหล่านี้ จะช่วยให้เกิดการกระจายกระแสไปยังผู้ใช้งาน Twitter อยู่ในขณะที่รายการกำลังฉาย แต่บางครั้งการย่อสั้นเกินไปก็นำมาใช้ยากและอาจทำให้ไม่เข้าใจได้ง่าย ระวังตรงนี้ให้ดี
เหล่านี้เป็นเพียงกลยุทธ์เบื้องต้นสำหรับรายการโทรทัศน์ที่ต้องการใช้ Twitter ในการเก็บข้อมูลผู้ใช้งาน หากว่าอ่านแล้วยังงงๆ ลองศึกษาจากผู้ผลิตรายการอเมริกาเหล่านี้ที่เค้าใช้ Hashtag บน Twitter แล้วประสบความสำเร็จมานักต่อนักแล้วดูนะฮับ “American Idol” (@Americanidol); “The Voice” (@NBCTheVoice); “MasterChef” (@MASTERCHEFonFOX); America’s Got Talent (@nbcagt); “Dancing With the Stars” (@DancingABC); “So You Think You Can Dance” (@official_sytycd); “American Ninja Warrior” (@ninjawarrior) และ “Survivor” (@Survivor_Tweet)
เรียบเรียงจาก : Twitter Blog