All PostFacebook

[Interview] Thaiconsent: เพื่อให้สังคมเข้าใจถึงคำว่า “fair sex”

อันว่า Faceblog ซึ่งเป็นเว็บร้างๆ (ถถถ) ก็ห่างหายจากการสัมภาษณ์ไปซะนาน (ไม่ใช่อะไรขี้เกียจด้วยแหละ) พอดีไปเห็นน้องที่รู้จักกันทำเพจ Thaiconsent เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับ Fair Sex อย่างจริงจัง และพอได้พูดคุยกันก็พบว่าน้องเป็นคนที่มีอะไรดีๆ ในตัวเยอะมาก จนกลายเป็นบทสัมภาษณ์ฉบับนี้แล

อยากรู้ว่านึกไงทำเพจนี้

เราทำเว็บ thaiconsent.org มาตั้งแต่ปี 2015 แล้ว ถ้าให้สืบไปตอนนั้นคือ มีเพื่อนโดนละเมิดทางเพศมาปรึกษา ตอนนั้นน่าเห็นใจมาก เพราะสังคมใกล้ตัวไม่มีความรู้ กลายเป็นว่าถูกคนใกล้ชิดตัดสินว่าเพื่อนเราผิดที่ไปเปิดโอกาสให้เขาทำ เจอแบบนี้เพื่อนเราก็พูดอะไรไม่ออก ไม่กล้าทำอะไรแม้แต่แจ้งความ เขาเชื่อไปแล้วว่าเขาผิดเองที่ไม่ระวังตัว

เราเลยแบบ ไม่ใช่นะมึง ก็ต้องช่วยปั๊มกำลังใจเยอะมาก คือเราสนใจประเด็นเพศมาตั้งแต่มัธยมแล้ว ติดตามแคมเปญ ดูเทรนด์เคลื่อนไหวในยุโรป เมกา อาหรับ เอเชีย เราก็จะรู้ว่าผู้หญิงแต่ละพื้นที่เขามีปัญหาต่างกัน อย่างเรื่องของเพื่อนเรามันดีเบทได้ด้วยคอนเสปที่มีอยู่แล้วในตะวันตกแต่คนไทยไม่รู้ Consent (ความยินยอม) ก็เป็นหนึ่งในหลักการที่ว่า

ภาพตัดมาคือ สุดท้ายเพื่อนได้แจ้งความ ปรากฎว่าตำรวจดีมาก (ไป สน.บางยี่ขัน) กลายเป็นว่า ที่มีปัญหาอาจจะไม่ใช่ระบบ แต่เป็นระหว่างทางก่อนไปถึงความช่วยเหลือต่างหากที่มันตัดกำลังใจคน ลองคิดภาพว่าไปปรึกษาเพื่อนสนิท แล้วเขาบอกว่ามันก็พูดยากนะ มึงไปให้เขาเข้ามาในห้องเองอะ แค่นี้ก็ไม่รู้จะไปไหนต่อแล้ว โลกมืด

หลังจากแจ้งความ เพื่อนเราก็เปลี่ยนไปเลย จากคนที่โทษตัวเอง เป็นคนที่แข็งแรงขึ้นในทางจิตใจ แล้วทุกวันนี้มันยอมคนในเรื่องไม่เป็นเรื่องน้อยลง เขาเคารพตัวเองมากขึ้น กล้าทำเพื่อตัวเองมากขึ้น อันนี้เป็นชนวนแรก บังเอิญหลังจากนั้นไม่นาน Documentary Club ฉายหนังเรื่อง Hunting Ground เป็นสารคดีเกี่ยวกับนักศึกษาที่ต่อสู้เรื่องการละเมิดทางเพศในมหาวิทยาลัย ไปดูแล้วอิน เลยรู้สึกว่าต้องทำอะไรบ้างละ 55555

เห็นปัญหาแหละว่า concept เรื่องอะไรคือละเมิด มันไม่ค่อยมีในบ้านเรา เลยเปิดบล็อกแปลบทความต่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องนี้มาลง แล้วก็ชวนเพื่อนๆ มาช่วยแปลแล้วลองแชร์ดู แต่ปรากฎว่ามันวิชาการมากจ้า แล้วก็มีน้ำเสียงของการต่อสู้เต็มไปหมด (แผลสด เล่ายังไงก็โกรธ ๕๕๕๕) ผสมกับเรายังเรียนอยู่ปีสามแล้วก็ทำงานไปด้วย เวลาไม่มี เราก็เลยพักไป

แต่ข้อดีคือหลังจากนั้น มีคนรู้ว่าเรากำลังทำเรื่องนี้แล้วทักมาปรึกษาเยอะมาก กลายเป็นว่าคนใกล้ตัวเรากว่า 7 คน (ใกล้ขนาดเพื่อนคณะ รุ่นพี่รุ่นน้อง) เคยมีประสบการณ์ถูกละเมิดทางเพศ เห้ยตัวเลขนี้มันเยอะนะ แล้วมันช็อกด้วยที่เราไม่เคยรู้มาก่อน เขาก็จะทักมาถามเป็นระยะว่าเมื่อไหร่จะทำอีก อยากให้ทำนะ ระหว่างนี้เราก็เก็บข้อมูล เก็บเลเวลไปพลางๆ พอเรียนจบมาทำงานที่ Young Filmmakers of Thailand ดูแลส่วนโปรดักชันสื่อสารปัญหาสังคม ก็จะมีโปรเจกต์ที่ทำเรื่องเพศหลายชิ้น เช่น ประกวด More Than Mia, ชำระแบบเรียนเพศกับมูลนิธิ Path 2 Health, ช่วยตัดสินหนังสั้น SpeakUp SpeakOut ของ TIJ & UN Woman ไรงี้ ความแน่นในประเด็น แล้วก็ความละเอียดในการสื่อสาร ก็จะมีเยอะขึ้น

จากตอนที่จะเริ่มปี 2015 พักมาปี 2017 มีวันนึงเราคุ้ยโฟลเดอร์ในคอมแล้วเจออินโฟกราฟิกที่ให้เพื่อนวาดในตอนนั้น มันดูใช้ได้ถ้าแก้ไขข้อความนิดหน่อย เลยรู้ตัวว่าเฮ้ย จากแผลสดก็เป็นแผลแห้งแล้วว่ะ ตัวเราสามารถคิดแก้ปัญหาแบบที่ไม่โกรธได้แล้ว คงได้เวลาแล้วมั้ง ทำเลยละกัน

เหมือนภูเขาไฟอะ รอวันระเบิดมานานละ พลังมันมาพร้อมช่วงนี้ก็เลยได้ทำ ๕๕๕

ตอนนี้ที่ทำเจอปัญหาอะไรบ้าง

เรากะว่าสัปดาห์แรกได้สักสองพันไลก์ก็เอาแล้ว แต่ทีนี้มันไปเร็วกว่าที่เราคิด หลายๆ อย่างก็ไม่ได้เตรียมตัว เช่น ความต่อเนื่องของเนื้อหา ความครบถ้วนของเนื้อหา ความพร้อมในการตอบอินบ็อกซ์ หรือถ้ามีคนอยากช่วย เราจะรองรับความปรารถนาดีเหล่านั้นได้อย่างไร ในส่วนของช่วยวาดภาพประกอบนี่ทำให้เราคิดมากพอสมควร 555

ทำไมต้องคิดมากเรื่องภาพประกอบ?

ตอนแรกเราบรีฟนักวาดไม่ชัด กะว่าเพื่อนๆ กันช่วยกันก็น่าจะดีแล้วไรงี้ แต่พอทำมาจริงๆ มีบางงานที่ต้องกลับไปแก้ แต่บางงานก็ผ่านไปก่อนเพราะอยู่ในเฟสแรกๆ ของเพจ ยังไม่เป็นไร นี่ต้องทบทวนใหม่หมดเลยว่าบทบาทของงานวาดคืออะไรกันแน่ ซึ่งเราได้ข้อสรุปว่างานวาดในเพจเป็นงานที่จริงจังมากที่สุด เรากำกับเรื่องทางบ้านไม่ได้ แต่เรากำกับภาพประกอบได้ไง

ขั้นตอนของเรา เราจะแก้ไขเรื่องทางบ้านน้อยมาก จะมีแค่ตัดบรรทัด ตัดคำซ้ำ แล้วก็แก้ข้อความที่อาจจะทำให้เกิดทัศนคติเหมารวม (ซึ่งจะไปก่อให้เกิดปัญหาใหม่) ให้เป็นข้อความที่ไม่เหมารวมแต่ยังสื่อความรู้สึกได้ แล้วเรื่องทางบ้านโดยลำพังมันเปิดโอกาสให้ตีความได้ตามประสบการณ์ การมีภาพประกอบที่ละเอียด ก็จะช่วยไกด์ให้คนมองหาความละเอียดในเรื่อง มันเป็น non-verbal communication

ความท้าทายของนักวาดคือ ต้องมีความเข้าใจร่วมก่อนว่าเราจะสนับสนุนเรื่องราวของคนที่มีอยู่จริง เราต้องเคารพความรู้สึกเจ้าของเรื่อง ต้องวาดเรื่องที่เป็นของเขาเท่านั้น ไม่ใช่เอาไปแปะกับเรื่องไหนก็ได้ แล้วมันก็ต้องไม่มีกลิ่นอายของภาพเพื่อการโฆษณามากจนเกินไป

ต่อมา นักวาดก็ต้องเข้าใจเรื่อง ความหลากหลายของคน ถ้าเราเอาโจทย์นี้ให้คนทั่วไป เฟิร์สไอเดียของเรื่องส่วนมากจะเป็นคนจูบกันบนเตียง อันนี้ก็จะไม่ดีกับคนที่เข้ามาอ่านเพราะภาพจะซ้ำกัน ในวันที่มีสักร้อยชิ้น เราก็ควรจะมี 100 ภาพที่แตกต่างของเรื่องนั้นๆ เลย อีกประเด็นคือผู้หญิงในภาพมักจะผมยาว ผอม มีนม ก็ต้องตั้งคำถามไปอีกว่าผู้หญิงผมสั้นได้ไหม ถ้าผิวสีอื่นสวยไหม ต้นขาใหญ่สวยไหม เซลลูไลท์เป็นส่วนที่งดงามหรือเปล่า หรือการวาดหน้าอก เชื่อปะว่าผู้หญิงกับผู้ชายวาดหน้าอกไม่เหมือนกันอีก ก็ต้องมาเวิร์กชอปกันไปอีกว่าเรากำลังวาดบนความตระหนักรู้อยู่หรือเปล่า

เออ ให้เขาช่วยแล้วก็ยังเรื่องมากเนอะ 555555 แต่อันนี้เป็นประเด็นที่สำคัญโคตรๆ ในการทำแคมเปญระดับนานาชาติ เพราะต่างชาติเขาระวังเรื่องพวกนี้กันหมด ภาพประกอบเพื่อการรณรงค์มันคิดคนละแบบกับภาพประกอบเพื่อการโฆษณา เพราะการรณรงค์มันต้องระวังไม่ให้สื่อของเราไปกดทับประเด็นใกล้เคียงในสิ่งที่กำลังรณรงค์อยู่ ประมาณนี้

คิดว่าคาดหวังอะไรจากการทำเพจนี้บ้าง

ในเบื้องต้นก็ยอดติดตาม เพื่อที่จะได้ประชาสัมพันธ์สิ่งที่เป็นสาระจริงๆ ได้ง่ายขึ้น 5555555555 คือเราก็ไม่อยากเป็นเพจเคลื่อนไหวประเด็นสังคมที่โพสเรื่องเครียดๆ ตลอดเวลา อยากให้มีไรเพลินๆ ไว้อ่านระหว่างทางด้วย อันที่จริงนี่เตรียมเซ็ตความรู้ไว้เยอะมาก เป็นหลักสูตรเพศศึกษาได้เลย ลองคิดว่าคนไทยเนี่ย ตอนเด็กๆ ไม่ชอบถูกหอมแก้ม ผู้ใหญ่ก็ไปบอกว่าให้ป้าเขาหอมหน่อยสิลูก วันนึงหนูโดนเพื่อนแกล้งเปิดกระโปรง เพื่อนมาขอโทษ แม่ดันมาบอกให้กูยกโทษให้เขาอีก คือมันมีเรื่องต้องไปรื้อตั้งแต่เด็ก เรื่องที่ต้องคุยกันมันเยอะจริงๆ

ในทางประโยชน์ของการดำเนินงาน เราว่าเรื่องที่ส่งมา ถ้าเอาไปจัดระเบียบดีๆ มันจะเห็น Pattern ว่าอะไรเอื้อให้เกิดความรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบทางเพศ อะไรเอื้อให้เกิดความรู้สึกดี ข้อมูลตรงนี้คงทำให้คนทำงานสื่อเพศทำงานง่ายขึ้น (แบบว่าเราเคยสัมภาษณ์สด มันก็จะน่าเชื่อถือ มีคนอยู่จริง แต่ได้ insights ไม่เยอะขนาดนี้) แล้วอุปสรรคของงานเพศเนี่ยคือ ข้อมูลมันน้อย คนมาแจ้งเรื่องน้อย คนแจ้งความก็น้อยกว่าที่มีปัญหาจริงมาก ถ้าคนทำงานมีข้อมูลในมือเยอะ เราก็จะแก้ปัญหาได้ดีขึ้น แถม Pattern พวกนี้ทำให้เราเห็นเรื่องที่เรามองไม่เห็นอีก เดี๋ยวจะมีบอกว่าเห็นอะไรในข้อถัดไป

สำคัญคือได้ Insights นี่แหละ ว่าการสื่อสารแบบไหนเวิร์คไม่เวิร์ค อย่างอันนี้มันนิรนาม คนก็กล้าเข้ามาหาและให้ข้อมูลกับเรา เป็นสมมุติฐานว่าต่อไป เราอาจพัฒนา Chatbots ที่ช่วยปรึกษาเรื่องละเมิดทางเพศหรือเตรียมตัวแจ้งความ ประมาณนี้

สำหรับคนที่เข้ามาอ่าน เราคาดหวังให้เขาได้อะไรที่เป็นประโยชน์กลับไป 555 แม้ในเรื่องทางบ้านที่เรากะให้อ่านเพลินๆ ทุกเรื่องก็จะมีติ่งๆ อะไรที่เราเรียนรู้จากมันได้ อย่างน้อยที่สุดคือเรื่องความหลากหลายของคน หรือถ้ามันมีประโยชน์ในทางความรู้สึก รู้สึกว่ามีคนพูดแทนเรา รู้สึก Secure กับตัวเองมากขึ้น ก็จะเป็นไรที่ดี

Insights อะไรที่มองไม่เห็นแต่เห็นในตอนเก็บเรื่อง?

เรื่องของผู้ชาย มี 8-10% จากทั้งหมดที่ส่งเข้ามา เราพบว่าในเรื่องของผู้หญิงจะมีความหลากหลายทางอารมณ์เยอะกว่า ฟีลๆ แบบ เรื่องนี้มันสำคัญกับเขาไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ แต่ในเรื่องผู้ชายจำนวนน้อยเนี่ย ถ้าไม่ดีแบบที่ภูมิใจได้ก็โลกมืดไปเลย แล้วในเรื่องโลกมืด มันเป็นเรื่องที่ผู้หญิงไม่รู้จริงๆ ว่าผู้ชายมีปัญหา แล้วในบางเรื่อง เขาไม่มีโอกาสเล่าให้เพื่อนผู้ชายฟังด้วยซ้ำ

กลายเป็นว่า จากที่เราเข้าใจว่าผู้ชายมีโอกาสพูดเรื่องเพศเยอะกว่า ไม่ต้องคิดมากที่จะพูด และมีพื้นที่เยอะกว่าในสังคม แต่ถ้ามาดูดีๆ เรื่องสาธารณะของผู้ชายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ทั้งหมดเลย แบบต่อให้เป็นเรื่องทุกข์ มันก็เป็นทุกข์ที่เล่าได้อะ ทุกคนเข้าใจตรงกัน ทุกคนเห็นว่ามันธรรมดา เช่น ผู้ชายกลัวเมีย มันก็เป็นทุกข์ที่ไม่อึดอัดใจจะเล่าเพราะสังคมเรามี norm รองรับ ถ้ามองหยาบๆ เราก็อาจจะคิดว่าผู้ชายดีจังนะ ไม่ต้องคิดไรมาก บรรยากาศมันฉาบไปด้วยความขำขันไปหมด

แล้วในเรื่องที่ตลกไม่ออก มันไปอยู่ที่ไหนกันล่ะ เช่น ผู้ชายโตแล้วถูกผู้หญิงสวยข่มขืน ผู้ชายโตแล้วถูกลวนลามในบรรยากาศตลกแต่เขาไม่ตลกด้วย ผู้ชายที่รู้สึกว่าเป็นวัตถุทางเพศของแฟน ฯลฯ

อย่างผู้หญิงมีปัญหา ก็มีกลุ่มเฟมินิสต์ กลุ่มคนหลากหลายทางเพศมีปัญหา ก็มีการรวมตัว แต่ในผู้ชายที่ปัญหาเขาพูดยาก พูดกับผู้ชายด้วยกันยังรู้สึกแปลกแยกและ insecure คนกลุ่มไหนที่จะพูดแทนเขา?

อันนี้ก็สำคัญถ้าจะสื่อสารกับผู้ชาย คือเขาก็มีความซับซ้อนในแบบของเขา มีประสบการณ์ไม่ดีเกี่ยวกับความรักเหมือนเพศอื่น มีผิดหวัง มีเสียใจ เหมือนๆ กัน

มีเส้นบางๆ กับสิ่งที่เรียกว่าเรื่องเสียว กับเรื่องเล่า มีวิธีจัดการยังไง

ง่ายนะ ไม่ได้อยู่ที่เจตนาคนเล่าด้วย มันเป็นเรื่องทางเทคนิก คือเรื่องเสียวจะเน้นเล่าว่าเหตุการณ์เป็นยังไง Action นั้นๆ ก่อให้เกิดความรู้สึกเสียวในทางกายภาพยังไง ทุกบรรทัดเป็นไปเพื่อโฆษณาเหตุการณ์ จินตภาพก็ทำให้เราจินตนาการเป็นบุคคลที่หนึ่ง

ในขณะที่เรื่องเล่า จะเล่าความคิดของผู้เล่ามากกว่าว่าเหตุการณ์นั้นทำให้เขาคิดอะไร Action ต่างๆ ก็เป็นไปเพื่อทำให้เราเข้าใจความคิดหรือความรู้สึกเขามากขึ้น เวลาอ่านเราจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นบุคคลที่สาม เป็นเพื่อนที่มาฟังเรื่องที่เขาเล่าให้ฟัง

ตอนตั้งโจทย์รับเรื่องเลยสำคัญที่คำถามเชิญชวนและการยกตัวอย่าง ที่เรียกร้องให้ใช้ความคิด ต่อให้จะเป็นเหตุการณ์เชิงความรู้สึกก็ตาม ๕๕

คิดว่าจะมีดราม่าอะไรที่อาจจะเกิดบ้าง

ยังไม่อยากคิดเลย T_T อันที่เป็นไปได้คือ สิ่งที่เราทำจะไปเป็นเครื่องมือสร้างบรรทัดฐานใหม่ไปกดทับอิสระภาพของใครหรือเปล่า เช่น คนอาจจะเข้าใจผิดว่าหน้าที่ของแฟนที่ดีคือห้ามปฏิเสธเวลาแฟนขอให้เลียจิ๋ม / วันไนท์สแตนด์ควรจะมีความรู้สึกเสมือนรักประกอบด้วยเสมอ ไม่งั้นถือว่าเป็นวันไนท์ที่ไม่ดี คือต้องระวังว่ามันจะไป Romanticize ให้เกิดความรู้สึกว่านี่คือดีที่สุด เลิศที่สุด เป็นอื่นจากนี้ไม่ได้รึเปล่า ซึ่งเราไม่อยากให้คนเข้าใจแบบนั้น อยากให้เข้าใจว่าเซ็กส์มันเป็นเรื่องที่ เปลี่ยนคนก็เหมือนนับ 1 ใหม่ ต้องมาเข้าใจกันใหม่

ก็ต้องระวังและบาล้านน้ำหนักเนื้อหาไว้หลายๆ แนว แล้วก็จะพยายามคิดถึงความต่อเนื่องของเนื้อหาด้วย แบบ เราจะพาคนไปสู่แนวคิดเรื่องความหลากหลาย – การไม่เหมารวม – ศึกษาและให้เกียรติคู่ของเรา – เคารพตัวเองมากขึ้น ได้ยังไง แบบเรื่องเล่าแล้วไปไหนต่อ อันนี้ก็ต้องทำการบ้านเยอะ

นอกจากเรื่องเล่าจากทางบ้าน อยาก educate อะไรกับสังคมบ้าง

อ้าวตอบไปหมดแล้ว 5555 จริงๆมีอีกเรื่องที่เป็นจุดประสงค์แฝง คือ คนชอบเข้าใจว่าสอนเพศศึกษาให้เด็ก ให้มันใส่ถุงยางเป็นก็คือนิพพานของครู แต่เราก็มีคนรู้จักที่การศึกษาดี เรียนโรงเรียนดัง เป็นเด็กที่คิดถึงอนาคต แต่ครั้งแรกของพวกเขาไม่มีถุงยางเป็นส่วนประกอบ

เพราะครั้งแรกเนี่ย 1) ไม่ได้ตั้งใจ 2) แต่กลัวไม่มีโอกาสอีก 3) ใหม่กับอารมณ์อยาก เหมือนฮีโร่ค้นพบพลังใหม่แล้วควบคุมไม่ได้

ถ้าสังคมคิดแค่ กูเตือนมึงแล้วมึงไม่ฟังเอง มันไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นมาน่ะ การเข้าใจว่าในหัวตอนนั้นคิดอะไร มี Pattern อะไร มันสำคัญกว่า “ห้ามแล้วต้องฟัง” เพราะเราจะได้ออกแบบวิธีการที่ดีกว่ามาช่วยให้เขาตัดสินใจได้ดีขึ้น ดังนั้นเพศศึกษา เลยเป็นเรื่องที่จะพูดในมุมวิทยาศาสตร์หรือมุมสุขภาพอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องเข้าใจความเป็นคนด้วย ซึ่งมันจะส่งผลถึงความรุนแรงในครอบครัว การละเมิด และอื่นๆ – ที่ต้องทำตั้งแต่ resource ประกอบการตัดสินใจในเหตุการณ์เฉพาะหน้า ต้องเอื้อให้คนเรียนรู้และตัดสินใจได้ดีกว่าเดิม ไรงี้

สนใจก็เข้าไปอ่านและไลก์เพจกันได้ที่นี่เด้อ

SHARE :
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
Bluemoon
the authorBluemoon
I come from B612 star, nerd, greedy, moody, lazy, Facebook Development, social Networking. almost Blog in Thai but English OK. ^^