ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะมีขี้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ เปรียบเสมือนการชี้ชะตาครั้งสำคัญของประเทศ ว่าเรากำลังจะเดินไปทางไหน เพราะคู่แข่งทางการเมือง 2 ฝ่ายใหญ่ๆ (ไม่รวมฝ่ายยิบย่อยอีกสารพัด ซึ่งเราจะไม่พูดถึงในที่นี้ เพราะนี่มันเว็บ Faceblog! :P) นั้นมีอุดมการณ์ และต่างก็เดิมพันทุกอย่างเอาไว้กับวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 กันทั้งนั้น
และสื่อพี่ใหญ่หัวไวอย่างอาณาจักรเนชั่นของคุณ @suthichai ก็ไม่รอช้า จับประเด็นเกี่ยวกับการหาเสียงด้วยการใช้ Social Media มาจัดเป็นหัวข้อในงานเสวนา NForum ครั้งที่ 2 เมื่อวันเสาร์ที่ 28 พ.ค. ที่ชั้น 5 เกษรพลาซ่านี้เองงงง มาดูกันว่าเราเก็บตกประเด็นอะไรกันมาได้บ้างนะครับ (ตรงวงเล็บที่ใช้ตัวสีเทานี่คือผมเสริมเอง อาจจะอ่านดูแล้วกวนตีนหรืออะไรไปก็ขออภัยนะครับ จะได้เก็ตบรรยากาศในงานกันไง)
@suthichai: “เราน่าจะมีพรรคการเมืองออนไลน์นะ”
- ตอนเปิดงาน คุณสุทธชัย หยุ่น ขึนมากล่าวแสดงวิสัยทัศน์และมุมมองเกี่ยวกับ Social Media ในการเลือกตั้ง
- การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่เราจะได้ใช้ Social Media กันเต็มรูปแบบ ซึ่งจะส่งผลให้หลังจากนี้ สื่อออนไลน์จะมีอิทธิพลเต็มตัวกว่านี้อีก อันนี้ต้องยกเครดิตให้โอบามา ที่เริ่มใช้สื่อนี้อย่างเหมาะเหม็งเป็นคนแรกจนเป็นแรงบันดาลใจให้นักการเมืองทั่วโลก
- ปรากฏการณ์แห่ง Social Media ที่ทรงอิทธิผลและส่งผลกระทบชนิดที่เรียกได้ว่าสะเทือนโลกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะในโลกอาหรับ จนคุณหยุ่นถึงกับกล่าวว่า ตัวเองทำข่าวมาตลอดชีวิตก็เพิ่งเห็นพลังของ Social Media ที่เจ๋งขนาดนี้ก็จากโลกอาหรับนี่แหละ
- มาถึงยุคนี้ ทุกคนเป็นนักข่าว (Citizen Journalist) กันแล้ว ดังนั้นสำนักข่าวเองก็ต้องรีบปรับตัว นักข่าวของสำนักข่าวเองจึงต้องทวีตเพื่อรักษาแบรนด์ของตัวเองด้วย ไม่งั้นแพ้ชาวบ้านหมด
- ไม่ใช่แค่ Facebook หรือ Twitter เท่านั้น แต่สื่อทุกสื่อในโลกออนไลน์นั้นต่างปฏิวัติการนำเสนอข่าวที่ผ่านมาทั้งหมด
- ด้วยความรวดเร็วฉับไวและมืออาชีพของสำนักข่าวอาหรับอย่างอัลจาซีรา ที่(ทวีต)เร็วกว่า CNN ซะอีก ..คุณฮิลลารี คลินตัน ถึงกับบอกว่า “Al Jasera is the only real news” (เมื่อก่อนอัลจาซีราเป็นสำนักข่าวที่นำเสนอข่าวในฝั่งที่โลกตะวันตกฟังแล้วไม่ค่อยยิ้มเท่าไหร่ แต่พอปฏิรูปสถานีปั๊บ ทีนี้เลยกลายเป็นเทพไปเลยครับ ถ้าให้นึกก็คงคล้ายๆ เนชั่นหรือ Voice TV ในบ้านเรา ที่วิสัยทัศน์ทันสมัยโดดเด่นกว่าชาวบ้าน)
- การเลือกตั้งในสิงคโปร์ในครั้งที่เพิ่งผ่านมา พรรคฝ่ายค้านได้คะแนนเสียงดีขึ้น มีคนรุ่นใหม่เยอะขึ้น และบทบาทของ Social Media ในการเลือกตั้งนั้นชัดเจนขึ้นมาก (เสริม: โดยปกติแล้วที่สิงคโปร์นี่เลือกกี่ครั้งพรรครัฐบาลก็ได้ตลอด ยังกะผูกขาดแน่ะ เพิ่งมาครั้งนี้แหละที่เริ่มมีสัญญาณว่าฝ่ายค้านที่มีพลังคนรุ่นใหม่เข้ามาช่วย เริ่มเห็นผลแล้ว)
- แต่ในของไทย เรายังใช้กันไม่เป็นเลย
- นั่นเพราะว่าคนที่ใช้ Social Media นั้นคือคนที่ต้องการเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ทั้งนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบและสร้างสรรค์
- วาทะเด็ด “Young men go online” (อันนี้เป็นการเล่นคำครับ เห็นคุณ @Chutchapol บอกว่า ที่อเมริกาเขาบอก “Young men go west” ส่วนจีนบอก”Young men go south” และคุณสุทธิชัยบอก”Young men go online”)
- แสดงวิสัยทัศน์ของการเมืองออนไลน์ที่น่าจะเกิดขึ้นในประเทศไทย ว่าเราน่าจะมีพรรคการเมืองที่เป็น Social Media แท้ๆ คือมีการรับสมัครสมาชิกพรรคกันแบบออนไลน์ นำเสนอนโยบายโดยใช้สื่อออนไลน์ จนกระทั่งจัดตั้งเป็นรัฐบาลออนไลน์ที่ใช้สื่อนี้รับฟังเสียงประชาชนและตอบสนองความต้องการได้อย่างรอบด้านตลอด 24 ชั่วโมง (ขอแซวหน่อย: นี่ถ้ามีโทรศัพท์สารพัดนึกของโดราเอมอนที่ขออะไรก็ได้ น่าลองขอให้เราลองอยู่ในโลกของเฟซบุ๊ก แล้วรับสมัครสมาชิก หาเสียง จัดแคมเปญกันในนั้นเลย จนเผลอๆ เราอาจจะได้เลือกตั้งด้วยการแข่งกันกด Like พรรคก็ได้นะครับ :P อ๊ะไม่สิ ผิดกฎๆ :P)
และก็ถึงคิวช่วงหลักของการเสวนาครั้งนี้ ก่อนอื่นขอแนะนำตัวละครบนเวทีดังนี้ครับ
- คุณคณวัฒน์ วศินสังวร (@Kanawat_) รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (@PheuThaiParty) – เบอร์ 1
- คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน (@apirak_bangkok) ผู้อำนวยการศูนย์เลือกตั้งกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ (@DemocratTH) – เบอร์ 10
- คุณปรเมศวร์ มินศิริ (@iwhale) เว็บมาสเตอร์กระปุก.คอม
- คุณธวัชชัย เกิดประดับ หรือ อ.บอม (@Ajbomb)
- ผู้ดำเนินรายการ: ดอกเตอร์มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ (@dr_mana) และคุณสมฤทัย (@jin_nation)
@Kanawat_: “ที่ผ่านมาผมทวีตเองมาโดยตลอดจริงๆ นะ”
- พรรคเพื่อไทยใช้ Social Media ในลักษณะของการนำเสนอข้อมูลต่างๆ แบบ Corporate Branding ไม่ใช่ Celebrity Branding ดังนั้นจึงเน้นการให้ข้อมูล ไม่ได้โฆษณาชวนเชื่อ ไม่งั้นจะเกิดผลลบ
- ตั้งแต่หลังรัฐประหารเป็นต้นมา มีเว็บไซต์ถูกปิดประมาณ 2 หมื่นกว่าเว็บ!
- Social Media ทำให้การเมืองไทยตื่นตัว จึงเป็นสื่อของประชาชน ไม่ใช่ของรัฐที่จะมาควบคุม ครอบงำกันฝ่ายเดียวอีกต่อไป แต่ต้องเปิดกว้างให้มากที่สุด
- คุณคณวัฒน์พูดแขวะอีกพรรคบ่อยมากๆ ว่า “ที่ผ่านมาผมทวีตเองตลอดนะ” และทวีตโชว์บนเวทีด้วยมือถือแอนดรอยด์ (ตอนนี้ในห้องเสวนามี (ทีมงาน) ในตำนานของประชาธิปัตย์นั่งอยู่ด้วยนะครับ ตัวจริงเป็นสาวน้อยน่ารักมาก!)
- (พิธีกร: ที่ไม่ค่อยใช้ Social Media เนี่ยเพราะฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยในนี้มีน้อยใช่ไหม เลยไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญ?) – ยอมรับว่ามีน้อย แม้ตามอำเภอเมืองในต่างจังหวัดจะมีคนใช้อินเทอร์เน็ตอยู่เหมือนกัน แต่ Social Media ก็ไม่ใช่สื่อกระแสหลักของพรรค
- ที่สำคัญคือพรรคไม่ได้ใช้ทีม Marketing ในการทำ Social Media เพราะไม่ได้คิดจะโฆษณาชวนเชื่อกรอกหู (หลังจากนี้คุณคณวัฒน์ได้เน้นย้ำประเด็นโฆษณาชวนเชื่ออีกหลายครั้งมากๆ)
@apirak_bangkok: “เราใช้ Social Media เป็นสื่อกระแสหลัก”
- สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ เราใช้ Social Media เป็นสื่อกระแสหลัก ไม่ใช่สืิ่อกระแสรอง หรือสื่อเสริม (พอมาถึงตรงนี้ เราก็จะเห็นว่าวิสัยทัศน์ในการใช้ Social Media ของประชาธิปัตย์จะแตกต่างจากเพื่อไทยอย่างชัดเจนเป็นคนละขั้วกันเลยครับ คนดูในห้องเริ่มสนุกละ)
- ทางพรรคเน้นการสื่อสาร 2 ทางเป็นหลัก โดยเน้นไปที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยใช้ในการประกาศนโยบายและหยั่งเสียงของประชาชนนำมาต่อยอดได้
- (ตรงนี้คุณอภิรักษ์เหมือนจะแก้ต่างเรื่องการใช้ตัวปลอมทวีต) ในพรรคมีเพื่อนๆ ที่ใช้ Social Media อยู่จริงๆ จังๆ ตั้งหลายคนแน่ะ แถมแต่ละคนก็มีแฟนๆ อยู่เพียบ
- แล้วก็ตอบคำถามเรื่อง “พรรค ปชป ใช้ (ทีมงาน) ในการหาเสียงเหรอ?” ด้วยการบอกประมาณว่า “แล้วจะทำไมอะ ก็ดีไม่ใช่รึ” และย้ำว่านี่คือกลุ่ม “คนรุ่นใหม่” ที่เข้ามาช่วยงานพรรค แต่ไม่ได้ถึงขนาดมาวางแผนเป็นกลยุทธ์อะไรกัน เพียงปล่อยให้เป็นธรรมชาติ ไม่ได้ไปกำหนดอะไรเป๊ะๆ (ส่วนตัวผมคิดว่า ถ้าวางแผนก็ไม่เห็นเป็นไรเลยนี่ครับ ที่สำคัญ “ควรจะวางแผน” ให้เป็นถึงระดับกลยุทธิ์อย่างสง่าผ่าเผยเสียด้วยซ้ำ)
- ทางพรรคมีแอปของ iOS ด้วยนะครับ ชื่อ DemocratTH
ศึกดีเบตระหว่างตัวแทนสองพรรคใหญ่ด้วยประเด็นเรื่องการหาเสียงด้วยสื่อออนไลน์
- พอมาถึงตรงนี้ก็มีการส่งไมค์ข้ามกันไปมาระหว่างวิทยากรแต่ละท่านละครับ จังหวะใช้โวหารแขวะสวนหมัดกันแบบหน้ายิ้มๆ นี่ฟังแล้วสนุกดี คือบันเทิงแบบดูชิงร้อยชิงล้าน แต่ไม่ค่อยได้อะไรอย่างที่น่าจะเป็นความรู้เท่าไหร่นัก (ต่อไปนี้ผมขออนุญาตย่อชื่อเต็มๆ เป็น ปชป และ พท นะครับ)
- @Kanawat_: ที่เราเห็นว่าพรรคไม่ค่อยได้มีการเตรียมตัวอะไรมากนั้น ที่จริงแล้วเป็นเพราะการวางกรอบกติกาของ ก.ก.ต.ยังไม่ชัดเจนว่า ตกลงการใช้ Social Media ในการหาเสียงเนี่ย อะไรทำได้หรือไม่ได้กันแน่ (เสริม: ประเด็นนี้แหละครับที่ใครๆ ก็สงสัย เดี๋ยวช่วงหลังๆ จะมีขยายความอีกเยอะครับ)
- @Kanawat_: ที่จริงเราก็มีโครงการทำแอปบนมือถือเหมือนกันนะ มีในทุกๆ แพลตฟอร์มเลยด้วยซ้ำ แต่ไม่กล้าทำออกมาจริงๆ เพราะกลัวผิดกติกา ..นั่นเพราะพรรคเราโดนยุบมา 2 ครั้งแล้ว (ฮา) และประชาธิปัตย์ก็รอดจากการถูกยุบอย่างเหลือเชื่อ (ฮาอีก) ดังนั้นในเมื่อ ปชป ทำได้ เราก็สบายใจละ ต่อไปจะเตรียมปล่อยแอปที่ว่าบ้าง
- @apirak_bangkok: ถ้าไม่ทำอะไรให้ผิดกฎหมาย ก็ไม่โดนยุบหรอกครับ (งั่ม)
- @Kanawat_: ผมใช้แอนดรอยด์ (ส่วนอีกพรรคใช้ iPhone) และทวีตด้วยตัวเองแบบจืดๆ ไม่มีทีมงาน และไม่เคยใช้โวหารแขวะใคร (ถึงจะบอกแบบนี้แต่พี่แกก็กัดอีกรอบ – หลังจากนี้ยังย้ำแบบเดียวกันนี้อีกหลายครั้งครับ.. งั้นผ่านละกันนะ)
- @apirak_bangkok: สมัยปี 2551 ตอนผมหาเสียงก็ใช้ Hi5 และ Facebook นะ
- @iwhale: ผมไม่ค่อยได้ทวีตการเมือง เพราะทวีตทีไรแล้วคนจะ RT กันเพียบทุกที (นั่นแน่!) การจัดแคมเปญรณรงค์ต่างๆ เพื่อสังคม ในช่วงที่การเมืองดุเดือดที่ราชประสงค์ จนมีโลโก้ดอกไม้เต็มไปหมดทั้งโลกออนไลน์นั้นก็เป็นสิ่งที่ภูมิใจ แต่พอช่อง 11 เอาไปขึ้นเป็นตัววิ่งในรายการ กลับกลายเป็นคนมองว่านี่คือเครื่องมือทางการเมือง แต่ทุกวันนี้ก็ยังสานต่อโครงการนโยบายจากภาคประชาชนเพื่อนำเสนออยู่
- @Ajbomb: ทีมงานของ ปชป ยังใช้ Social Media ไม่เป็น ส่วนของ พท นั้นยังเป็นการยัดเยียดข้อมูลข่าวสารทางเดียวทั้งที่ Social Media เป็นสื่อสองทาง ..สรุปแล้วกากส์ทั้งคู่ (มาแรงขนาดนี้ก็เรียกเสียงฮือฮาได้ทั้งห้องเลยครับ)
- @Ajbomb: ผมเลือกชูวิทย์ครับ (ฮา)
- @Ajbomb: ถ้าวัดกันที่การใช้ทวิตเตอร์นั้น ทีมงานของคุณยิ่งลักษณ์ทำงานได้น่าสนใจกว่าของคุณอภิสิทธิ์ แม้จะไม่ค่อยตอบคำถามก็ตาม
- @Kanawat_: ทีมงานของคุณยิ่งลักษณ์นั้นก็เดินไปด้วยกันตอนหาเสียงนั่นแหละ ถ้ามีคนทวีตมาถามคุณปู ทีมงานก็จะขอคำปรึกษาว่าจะตอบยังไงดี และในบางครั้งก็จะมีการรวบยอดไปตอบเป็นคำถามเดียวในตอนเย็นของแต่ละวัน
- @apirak_bangkok: เป็นเรื่องธรรมดาที่ท่านหัวหน้าพรรคจะงานยุ่งจนไม่ได้ทวีตเอง แต่ทีมงานก็เป็นผู้ติดตามไปด้วยกันเหมือนกันนั่นแหละ (เอ๊ะ ตอบตามแพตเทิร์นแบบนี้ก็สูตรเดียวกะ พท เลยนี่นา แต่ทำไมโดนแขวะบ่อยจังตู)
- @apirak_bangkok: การใส่ร้ายป้ายสีกันโดยใช้ Social Media นั้นทำได้ง่ายแต่พวกเราควรดูแล ไม่ควรให้เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องช่วยๆ กัน
- @Kanawat_: ตอนนี้ก็เริ่มมี Account ปลอมของคุณยิ่งลักษณ์แล้วนะ
- @apirak_bangkok: ภาพลักษณ์ของนักการเมืองที่มีต่อประชาชนตลอดมาก็ดูแย้แย่ ทั้งที่จริงๆ แล้วงานการเมืองเป็นงานอาสา (@Kanawat_ พยักหน้าและแสดงความเห็นด้วย โดยบอกว่าเป็นวิชาชีพ) เราจึงพยายามสร้างคนรุ่นใหม่ให้เข้ามามีส่วนร่วม และการเสนอนโยบายพรรคแต่ละนโยบายนั้นไม่ได้นั่งเทียนคิดขึ้นมาเอง แต่ทุกนโยบายผ่านการ Survey มาแล้ว
- @Kanawat_: เวลาไปหาเสียงที่เวทีแล้วมีคนเสื้อแดงจำนวนมากมาฟังแล้วมีคเชื่อมโยงกับคุณทักษิณนั้น ที่จริงแล้วคุณทักษิณสั่งเสื้อแดงไม่ได้หรอก แต่เราก็ขวางศรัทธาของพวกเขาไม่ได้
งานเข้า ก.ก.ต. โดนรับน้องแบบเต็มๆ (ตูไม่น่ามาเล้ย)
- ในห้องมี ก.ก.ต. (@ect_thailand – บัญชีนี้ไม่ได้ทวีตอะไรมาปีนึงแล้ว) นั่งอยู่ด้วยครับ นั่งอยู่แถวหน้าสุดเลย
- จริงๆ งานเสวนาครั้งนี้เกือบจะเป็นดราม่าเล็กๆ แล้วแหละครับ เพราะว่าพอเสวนาไปสักพัก ก็จะเริ่มมีหลายประเด็นที่พุ่งความสนใจมายัง ก.ก.ต.มากขึ้นเรื่อยๆ จนทางผู้จัดต้องเชิญให้ช่วยตอบข้อซักถาม
- คิดดูแล้วก็สงสารคนเป็น ก.ก.ต.เหมือนกันนะ การบ้านก็ไม่ได้ทำมาแต่กลับเป็นที่สนใจอย่างมากของผู้เข้าร่วมเสวนา เรียกว่ามากกว่าตัววิทยากรบนเวทีอีกครับ!
- ตอบประเด็นการคิดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงออนไลน์ – มีค่าน้ำประปา ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ฯลฯ ก็คิดไปตามนั้น
- ตอบคำถามที่ทุกคนสงสัยกันมานานและต้องการมาหาคำตอบในงานนี้คือ ในเมื่อ Social Media มันไม่สามารถควบคุมได้อยู่แล้ว ดังนั้นการที่แฟนๆ จะทวีตเชียร์พรรคที่ชอบ หรือ RT หรือโพสต์ในเฟซบุ๊กของพรรคหลัง 18.00 น.ของคืนหมาหอน (ซึ่งตามกติกาคือห้ามหาเสียง และ ก.ก.ต.ได้แย้มมาก่อนหน้านี้ว่าทางพรรคไม่สามารถทำได้ไม่ว่าจะด้วยกรณีใด) ได้ไหม และในกรณีตรงกันข้าม ถ้ามีการกลั่นแกล้งกันเพื่อจะให้มีการกระทำความผิดดังกล่าวกับพรรคการเมืองตรงกันข้ามล่ะ? .. รวมถึงโฮสติ้งที่เปิดให้บริการเว็บไซต์ของพรรคการเมือง จะต้องปิดตัวลงชั่วคราวในเวลา 18.00 น.ใช่ไหม – คำตอบคือ กติกากำหนดไว้อยู่แล้วว่าห้ามหาเสียง ดังนั้นในกรณีของเว็บ ก็คล้ายกับป้ายหาเสียง คือเปิดไว้ได้ แต่ต้องไม่โพสต์อะไรลงไปเพิ่ม (คือให้เว็บมัน Static ไปว่างั้น – แต่ที่เป็นข้อสงสัยถัดมาคือ แล้วพวก wall ล่ะ / หรือในเว็บมีการเคลื่อนไหวที่ดูดฟีดมาจาก Twitter อะไรแบบนี้ล่ะ? ซึ่งตรงนี้ไม่ได้รับคำตอบใดๆ กลับมา)
- มีคำถามต่อเนื่องก็คือ ในกรณีที่มีคนทำผิดกฎหมายเลือกตั้งแบบยิบย่อยที่เกิดขึ้นในสังคมออนไลน์ล่ะ? จะมีบทลงโทษยังไง จะเป็นเสือกระดาษไหม? ถ้ามีคืนเดียว 5,000 เคสจะเป็นอย่างไร ปรากฏว่าคำตอบก็คือ “ต้องมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญมาเพื่อทำการตรวจสอบเป็นกรณีๆ ไป” ครับ ..อา..
- คำตอบของ ก.ก.ต.แต่ละข้อที่ยกมานั้น ผมบอกตามตรงเลยครับว่า “ไม่เคลียร์เลยสักคำตอบเดียว” .. ดังนั้นผู้มาร่วมงานนี้เลยน่าจะได้ข้อสรุปอะไรบางอย่าง ..ว่ามันยังไม่มีข้อสรุปนี่เอง เดาว่าหลังการเลือกตั้งคงได้มีการฟ้องอะไรต่อมิอะไรกันวุ่นวายเพราะเรื่องความไม่ชัดเจนในการบังคับใช้กติกาจนมีผู้เสียผลประโยชน์นี่แหละครับ
- คุณ @vow_vow เสนอหนึ่งทางออกที่น่าสนใจครับ คืออยากเห็น ก.ก.ต.ออกไกด์ไลน์สำหรับการใช้ Social Media หาเสียงเสียเลย จะได้รู้ว่าอะไรได้อะไรไม่ได้ เพราะเก็บเกี่ยวคำถามกันมาเยอะเลยครับงานนี้
อื่นๆ (เก็บตกหน่อยนะ)
- งานนี้จัดได้เหมาะครับ ประเด็นในการเสวนาค่อนข้างครอบคลุม คือตอนเดินเข้ากับเดินออกเนี่ยความรู้สึกของผู้ฟังต่างกันเลย คือรู้แล้วว่างานนี้ตกลงระเบิดไปตกที่มือใคร 555
- งานเสวนาใดๆ ที่คนออนไลน์มากันเยอะๆ เวลาผู้ชมยกมือถามหรือมีการแนะนำตัว พิธีกรจะชอบบอกว่า “ช่วยแนะนำชื่อและ @ ด้วยนะครับ”
- นอกจากจะมีการถ่ายทอดสดออนไลน์ (Live streaming) แล้ว ภายในห้อง มีทีวีและจอโปรเจ็กเตอร์แสดง Twitter Wall ที่ดูเจ๋งจนหลายๆ จังหวะก็ดึงความสนใจของผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาไปฉิบ :P ลองจ้องใกล้ๆ ก็พบว่าใช้บริการของเว็บ Wallofsilver.net ครับ เจ๋งดีนะ อีเวนต์ไหนอยากเท่บ้างก็เอามาใช้เลย แนะนำๆ
- สังเกตว่าผู้ร่วมเสวนา (ซึ่งส่วนหนึ่ง/ส่วนใหญ่ๆ ก็เป็นนักข่าวกันทั้งนั้น) ยังมีพวกไร้มารยาทเปิดเสียงเรียกเข้าโทรศัพท์ดังลั่น แถมยังกดรับและพูดเสียงดังแบบได้ยินกันทั้งห้องแฝงตัวเข้ามาฟังด้วย ไม่รู้ไปหลงป่าอยู่ที่ไหนมา
- ประเด็นเรื่องการมีทีมงานมันดีหรือไม่ดีนั้น จริงๆ แล้วผมว่าไม่น่ายกมาเป็นประเด็นใหญ่จนกินเวลาและขโมยซีนเรื่องอื่นเลยนะครับ เพราะมันเป็ฯเรื่องธณรมดาจะตาย แบรนด์ไหนๆ เขาก็ทำกัน แล้วนี่ยิ่งเป็นแบรนด์ของนักการเมืองหรือพรรคการเมืองใหญ่ขนาดนี้ วันๆ มานั่งเฝ้าตอบคำถามชาวบ้านทางทวิตตอร์ด้วยตัวเอง รับรองไม่ได้ทำงานทำการกันหรอกครับ.. (ที่สำคัญคือ พอได้เห็นตัวจริงของ (ทีมงาน) ปชป แล้ว.. น่ารักวุ้ย แฮ่!)
- คุณยิ่งลักษณ์ (@pouYingluck) ทวีตมาทักทาย NForum ด้วยครับ :D
- คุณอภิรักษ์มีธุระเลยขอตัวกลับไปก่อน ทันใดนั้นเองคุณคณวัฒน์ก็หยิบ Teblet (จีน) ขึ้นมาและเริ่มหาเสียงขายนโยบายทันที นานด้วย พิธีกรบนเวทีก็พูดห้ามไม่ทัน ..อันนี้ไม่ไหวนะครับเฮีย จังหวะนั้นเสียงบ่นในห้องเสวนาก็ดังขึ้นทันที เออดี ไม่ชอบก็บอกไม่ชอบกัน ตรงดีครับเจ้าของเสียงสมัยนี้
- นักการเมืองก็ยังเป็นนักการเมืองอยู่วันยังค่ำครับ แทนที่จะตอบคำถามแบบเข้าใจง่ายๆ ก็เอาเรื่องง่ายไปตีสำนวนให้มันซับซ้อนตลอดเวลา ที่สำคัญคือพูดความจริงครึ่งเดียวกันทั้งนั้นเลย
- ปิดท้ายเสวนาด้วยการกล่าวสรุปจากคุณสุทธิชัย ว่าด้วยคำถามที่ตนถามเพื่อนที่อยู่สิงคโปร์ ว่าเอ๊ะ ยูเพิ่งเลือกตั้งมาแล้วไม่เจอปัญหาอะไรแบบที่ประเทศไอสงสัยบ้างเหรอ? ปรากฏว่าเพื่อนของคุณหยุ่นตกใจว่า เฮ้ย มีคน(เกรียน)สงสัยอะไรแบบนี้ด้วยเหรอ! และบอกว่าถ้าเป็น ก.ก.ต.ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะตอบยังไง ก็กูไม่รู้นี่หว่า! ..เรียกเสียงฮาครืนปิดท้ายการเสวนานี้อย่างแฮปปี้(เกือบ)ทุกคนครับ
- คุณสุทธิชัยไปเขียนขยายความไว้ในคอลัมน์กาแฟดำ แห่งหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจด้วย ลองอ่านดูครับ: การหาเสียง กับ Social Media : ศรีธนญชัยกรุณาชิดซ้ายไปได้เลย
หลังจากจบงาน ก็เริ่มมีบล็อกเขียนถึงงานนี้ รวมถึงทวิตเตอร์ ก.ก.ต.เองที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันตรงๆ ในงาน ก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวแล้วครับ เย้!
(ขอบคุณภาพประกอบจาก Friends of The Nation นะครับ :D)