ออกตัวไว้ก่อนว่าในที่นี้วิเคราะห์ในแง่ของการเติบโตโด่งดังของ Hormones วัยว้าวุ่น นะฮับ และปิดท้ายด้วยแง่มุมการวิเคราะห์ว่ามันดังได้ยังไง และนักการตลาดควรจะทำยังไงกับปรากฎการณ์นี้ดี ซึ่งบางเรื่องก็อาจจะไม่ได้ถูกไม่ได้ผิด แต่ก็แสดงความเห็นของตัวเองกันได้ที่คอมเมนต์ฮับ
ย้อนไปเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว เราได้เห็น VTR เปิดตัว 3 ซีรีส์ใหม่ ที่เป็นความร่วมมือจาก GTH และ GMM One ที่จะดูได้ผ่านกล่อง GMMz (ไม่งงนะ) ตามนี้
http://www.youtube.com/watch?v=NxKmcx3lbos
และ Hormones วัยว้าวุ่น ก็เป็นซีรีส์แรกนำร่องฮับ
Hormones วัยว้าวุ่น เป็นซีรีส์ที่กำกับโดยคุณย้ง ทรงยศ สุขมากอนันต์ ซึ่งหากยังจำกันได้ คุณย้งเคยเป็นผู้กำกับเรื่อง “ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น” ที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Hormones เหมือนกัน ถ้าใครตามที่มาของซีรีส์ Hormones วัยว้าวุ่น ตั้งแต่ EP.0 จะพบว่าที่มาของซีรีส์นี้ก็คือการต่อยอดจากหนังปิดเทอมใหญ่ฯ นั่นเอง กอปรกับนักแสดงวัยรุ่นในสังกัดที่ยังไม่มีภาพยนตร์ในบทบาทที่เหมาะสมให้เล่น ก็เลยเอานักแสดงกลุ่มวัยรุ่นดังกล่าวมาฟอร์มทีมกันเพื่อทำซีรีส์ดังกล่าว
“ผู้กำกับซีรีส์ Hormones วัยว้าวุ่น บอกว่าวินาทีที่เขาอยากทำซีรีส์ที่เกี่ยวกับวัยรุ่น เขาเผชิญกับความกลัวด้วยทางเลือกอยู่สองทาง หนึ่งคือถ้าทำออกมาแล้วเต็มไปด้วยภาพที่มีอยู่แต่ในอุดมคติ เขาคงจะเลือกที่จะไม่ทำ ทางที่สองคือถ้าทำออกมาก็ต้องทำให้ได้้สมจริงที่สุด ซึ่งเมื่อเลือกอย่างหลังแล้ว เขาก็ตั้งมั่นไว้ว่าจะต้องทำซีรี่ส์เรื่องนี้ออกมาให้ดีที่สุด ให้ตอบทุกคำถามได้มากที่สุด และต้องทำออกมาให้วัยรุ่นได้ดูแล้วรักตัวเองให้มากขึ้น ให้สมกับความรักในช่วงเวลาความเป็นวัยรุ่นที่ตัวเขามี” อ้างอิงจาก ย้ง ทรงยศ สุขมากอนันต์: วัยรุ่นไทยในความเป็นจริงแรงกว่าใน #hormonestheseries ซะอีก
ความแรงของซีรีส์ Hormones วัยว้าวุ่นนั้น ใน 6 ตอนที่ผ่านมา มียอดดูใน YouTube มากกว่า 16 ล้านวิว ไม่รวมจำนวนการเข้าชมผ่านเว็บไซต์ออนไลน์หรือผ่านโทรทัศน์แต่อย่างใด
ซึ่งถ้าถามว่าทำไมถึงดังนั้น ก็จะขอวิเคราะห์เป็นประเด็นๆ ดังต่อไปนี้
การใช้ Social Network
ในส่วนของ Facebook มีทั้ง Official Page ที่มีคนไลค์มากกว่าสองแสนคน และมีเพจที่แฟนคลับทำให้ มีคนไลค์มากกว่าสามแสนคน
ถ้าค้นหาด้วยคำว่า Hormones จะพบเพจที่ทำจากแฟนคลับอีกเป็นจำนวนมาก
ช่องทาง Official อื่นๆ ของ GTH มีทั้งเพจของ GTH, Play Channel, GMM One
ในส่วนของ Instagram ก็มีช่องทาง Official ที่มีคนตามกว่าเจ็ดหมื่นคน
ในส่วนของ Twitter มี @gthchannel ที่แข็งแกร่งมากในการทวีตสดๆ ช่วง on air รวมถึงกองทัพนักแสดงที่หลายๆ คนมี Twitter และมีคนตามเป็นจำนวนมาก จึงไม่แปลกที่ช่วงเวลาที่ Hormones วัยว้าวุ่นออนแอร์ (วันเสาร์ 4 ทุ่ม) นั้น มีกระแสการพูดถึงเยอะมาก เยอะจนแซงหน้าซีรีส์สุภาพบุรุษจุฑาเทพไปเลยทีเดียว
ข้อมูลคนที่ทวีตโดยใช้แฮชแท็ก #Hormonestheseries ข้อมูลจาก Thaitrend
ไฟจะลุกติดก็ต่อเมื่อมีเชื้อเพลิงฉันใด การมีกระแสใน Social Network ก็ต้องมีเชื้อเพลิงฉันนั้น (คำคมอะไรของแก) ซึ่งในกรณีของ Hormones วัยว้าวุ่นนั้น ก็จะขอวิเคราะห์เชื้อเพลิงที่ทำให้เกิดกระแสดังต่อไปนี้
ทำไมดัง?
เรื่องนี้ GTH วาง position ตัวเองถูกตำแหน่ง เลยติด ซีรีส์ทำมาตั้งใจขายวัยรุ่น เลือกนักแสดงเซตแกนนำที่ดึงดูด แล้วมีตัวเสริมที่ดึงดูดพอกัน ซึ่งเป็นความถนัดพิเศษของ GTH แล้วใช้ Social Network (โดยเฉพาะ Twitter) เป็นแกนหลักในการโปรโมต เพราะเด็กกลุ่มเป้าหมายเล่น Twitter เยอะ เนื้อเรื่องก็พยายามให้เกิดความรู้สึก Me too และมีกลยุทธ์ที่สื่อบันเทิงสมัยใหม่นิยมทำ เช่น ฉากหวือหวา ตบ จิ้น ฯลฯ เรื่องนี้มีประเด็นดังกล่าวครบหมด
นอกจากนี้กลุ่มเป้าหมายของซีรีส์นี้ เผินๆ อาจจะเป็นเด็กก็จริง แต่ก็ขยายฐานกลุ่มคนดูไปถึงผู้ใหญ่ที่อยากรู้ชีวิตวัยรุ่นยุคนี้ + อยากมี nostalgia moment อยากกลับไปดูวิถีชีวิตตัวเอง (ก็คือ me too strategy นั่นเอง) บวกกับกลยุทธ์การ buzz ของ GTH ที่ถนัดมากๆ ทั้งการใช้ Facebook, Twitter (ที่รวมไปถึงการเอานักแสดงมาทวีตช่วง on air), Instagram และมีการเอื้ออำนวยให้ผู้ที่ไม่มีกล่องดูย้อนหลังได้ผ่าน YouTube ก็เป็นการโปรโมตซีรีส์ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้การทิ้งเงื่อนงำให้คนดูสงสัยว่าตอนต่อไปวัยรุ่นแต่ละคนจะมีจุดจบเป็นเช่นไร ก็ทำให้คนดูสงสัยและอยากติดตามเรื่องมากขึ้น รวมถึงความเข้มข้นของเรื่องที่ยังดำเนินไปไม่ถึงจุดท้ายสุดแต่มีการทิ้งเงื่อนงำให้คนดูตามเป็นระยะๆ ผ่านทีเซอร์และ MV ประกอบซีรีส์ ก็ยิ่งทำให้อยากตามดูต่อเช่นกัน นอกจากนี้กระแสการพูดถึง Hormones วัยว้าวุ่น ก็มีเรื่อยๆ ไม่ได้มีเฉพาะวันเสาร์ออนแอร์เท่านั้น แต่ยังมีในวันที่มีรีรัน และมีหลังจากปล่อยคลิปลง YouTube ด้วย และจะเห็นว่าคอนเทนต์หลายๆ อย่างมีผู้ชมนำมานำเสนอในแง่มุมของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นคำคม, วิจารณ์ฉากต่างๆ, ทำมุกสี่ช่อง หรือเอาไปเปรียบเทียบกับซีรีส์อื่นจึงทำให้ Hormones วัยว้าวุ่น ก็จะยังถูกพูดถึงและเป็นกระแสไปอีกนานจนกว่าซีรีส์เรื่องนี้จะจบ
ที่มาจากเพจ คิดว่าดีก็ทำต่อไป, ฤดูที่ฉันเหงา, เกาลัด
ดังแล้วได้อะไร? แล้วนักการตลาดเห็นกระแสนี้ควรจะทำยังไง?
Benefit ที่ GTH ได้รับ ก็คือ ได้ชื่อเสียงเต็มๆ ในการรักษาอันดับหนึ่งในการทำหนังหรือซีรีส์ที่โดนใจวัยรุ่น, นักแสดงในสังกัดมีชื่อเสียงมากขึ้น มีงานมากขึ้น และเมื่อจะเอานักแสดงเหล่านี้มาแสดงภาพยนตร์ในต่อๆ ไป ก็จะทำให้หนังมีความน่าดึงดูดมากขึ้น, สามารถขาย Merchandise เช่น Box Set หลังซีรีส์จบได้
ในส่วนของ Media Online ควรจะแพลนไหม? ควรแพลน หาก Target ตรงกับ Brand ที่ต้องการไป tie in ส่วน key ในส่วนของแกรมมี่ ว่าจะขาย GMMz ได้หรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องที่ยากเพราะก่อนหน้านี้คอนเทนต์ใน GMMz (ทางช่อง GMM One ก็พยายามหาคอนเทนต์ตัวแม่มาสร้างกระแส เช่น เป็นต่อ ฯลฯ) แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
แต่อย่างไรก็ดี เส้นทางสายซีรีส์และไลน์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาพยนตร์ของ GTH หลายๆ เรื่องไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เช่น หมวดโอภาส, เนื้อคู่ประตูถัดไป และลำซิ่งซิงเกอร์ ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ประสบความสำเร็จเปรี้ยงปร้างเป็นพลุแตก แต่ก็อย่างที่ว่าว่าหลายๆ อย่างก็ต้องทดลองและลองทำถึงจะได้รู้ผลว่ามันสำเร็จตามที่คาดหวังไว้รึเปล่าอะไรงี้เนอะ ส่วนในแง่ของผู้บริโภคก็น่ายินดีที่จะมีอะไรดีๆ สร้างสรรค์มาให้รับชมกันต่อไปไรงี้ฮับ ฮูเร่
ใครอยากลองดู Hormones วัยว้าวุ่น ก็กดดูได้ที่ลิงก์ด้านล่างนี่เลยฮับ
หมายเหตุ: ขอบคุณแนววิเคราะห์บางส่วนจากคุณ @arjin ฮับ