All PostFacebookHow To

กรณีศึกษา การจัดการสื่อออนไลน์ของรายการฮิตแห่งปี The Mask Singer #TheMaskSinger

จบลงไปแล้วสำหรับรายการเกมโชว์ประกวดร้องเพลง The Mask Singer ของช่องเวิร์คพอยต์ (จริงๆ ก็ยังไม่จบซะทีเดียวเพราะเหลือเฉลยหน้ากากแชมป์อาทิตย์หน้า) ที่ทำสถิติใหม่ต่อเนื่อง มีบทวิเคราะห์ออกมาให้อ่านมากมายเต็มไปหมด สำหรับ Faceblog เราเลือกจะเขียนหลังการแข่งขันรายการนี้จบซีซั่นลง อย่าเพิ่งเบื่อแล้วกันนะ

The Mask Singer เป็นอีกรายการที่สร้างกระแสความนิยมได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงรอบ Champ of the Champ นอกจากตัวรายการที่สนุกชวนติดตาม กลยุทธ์หนึ่งที่รายการนี้ใช้ก็คือการใช้ช่องทางสื่อออนไลน์แบบครบเครื่องมากๆ มาลองดูบางส่วนที่น่าสนใจ

Live ครองโลก

ถือเป็นช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม เมื่อ Facebook ต้องการโปรโมตฟีเจอร์ Live อย่างเข้มข้น ขณะที่ YouTube Live ก็มีอยู่พร้อม รายการนี้เลือกใช้การออกอากาศสดผ่านทั้งสองช่องทางร่วมกัน ตัวเลขรวมคนดูสดสูงสุดที่บันทึกได้อยู่ที่ 1.7 ล้านคน (นับจากใน Facebook Live, YouTube Live ตอนล่าสุด) ซึ่งนี่ยังไม่รวมช่องทางดูผ่านโทรทัศน์และผ่านเว็บไซต์ดูทีวีออนไลน์อื่นอีก เรียกว่าล้อมทุกทางที่คนยุคนี้รับชมสื่อ

มีข้อสังเกตจากการนั่งดู Live ทั้งสองช่องทาง พบว่าเมื่อตัดเข้าช่วงโฆษณา ช่องทาง Facebook Live นั้นคนดูจะหายไปมากถึงกว่า 2 แสนคน ขณะที่ YouTube คนดูลดลงน้อยมาก

เหตุผลหนึ่งที่พออธิบายได้ก็คือ การดู Facebook Live น่าจะดูผ่านทางสมาร์ทโฟน จึงปิดจอเพื่อลดการใช้ data ชั่วคราว ขณะที่คนดูผ่าน YouTube Live น่าจะดูผ่านคอมพิวเตอร์ซึ่งไม่ห่วงเรื่องการใช้ data เลยเปิดแช่ได้ ตรงนี้ทำให้เห็นว่าแพลตฟอร์ม Live นั้น ผู้ชมใช้วิธีดูที่แตกต่างกันนั่นเอง

Twitter vs. Instagram

เมื่อเป็นรายการที่ต้องอาศัยการรับชมในเฟิร์สรันเพื่อหลีกเลี่ยงสปอยล์ Twitter จึงกลายเป็นสื่อในการพูดคุยที่สำคัญ (เช่นเดียวกับ The Face Thailand) และแฮชแท็ก #themasksinger ก็ติดเทรนด์ในทุกคืนวันพฤหัสบดีอย่างไม่ยาก บางสัปดาห์ขึ้นไปถึงเทรนด์โลกเลยก็มี

ข้อสังเกตคือ Twitter หลักของรายการ @mask_singer มีผู้ติดตาม 46,000 คน (The Face คนติดตามเกือบแสน) ไม่สอดคล้องกับเทรนด์ใหญ่มาก อาจเพราะ Twitter รายการเองไม่ได้ทวีตแบบมีอารมณ์สนุกสนานแบบที่รายการ The Face ใช้ก็เป็นได้ (เคยเขียนกรณีศึกษาไว้แล้วเรื่องนี้)

Twitter ของรายการ The Mask Singer

อย่างไรก็ตามเมื่อไปดู Instagram เรื่องราวกลับตรงกันข้าม เพราะ @themasksingerth นั้น มีผู้ติดตามมากกว่า 1.7 แสนคน จะเห็นว่าแต่ละช่องทางจะวิธีการสื่อสารที่ไม่เหมือนกัน จะมองแค่ตัวเลขผู้ติดตามอาจไม่ได้

การให้ความสำคัญกับแฟนอาร์ต

เนื่องจากรายการนี้ผู้แข่งขันใส่หน้ากากและไม่มีการเปิดเผยตัวตน รายการเลยมีฟีลแบบเทพนิยายนิดๆ เหมือนเป็นตัวละครลับ จึงเกิดกระแสการสร้างแฟนอาร์ตที่เยอะมาก (ฟิกก็มี แต่เราจะข้ามตรงนั้นไป) รายการ The Mask Singer เองก็เล่นกับแฟนอาร์ตแบบจริงจังมาก ทั้งแจกรางวัล นำภาพมาแชร์ต่อ

เมื่อคนดูรายการในฐานะแฟนคลับสนุกกับการสร้างสรรค์สิ่งใดขึ้นมา รายการก็ไม่เพิกเฉยและนำมาต่อยอดด้วย (รายการแบบดั้งเดิมทำเรื่องอย่างนี้ไม่ได้นะเออ) คิดดูว่าขนาดในเทปรอบตัดสินยังมีอนิเมชั่นแนวแฟนอาร์ตใส่เข้ามาช่วงหนึ่งด้วย

การแยกคลิป YouTube ออกมาหลายแบบ

เรื่องสุดท้ายนั้นน่าสนใจสำหรับผู้ผลิตเนื้อหาบน YouTube ด้วยความที่ The Mask Singer เป็นรายการร้องเพลง และเพลงก็เพราะมาก จึงเกิดรายการตัดคลิปแยกออกมา เอาเฉพาะตอนที่ร้องเพลงเท่านั้น ทำให้สามารถเปิดวนฟังไปได้เรื่อยๆ เหมือนฟังเพลงผ่าน YouTube นั่นแหละ

ผลก็คือหลายเพลงมียอดวิวระดับหลายล้าน เรียกว่าได้ความนิยมไม่แพ้คลิปหลักของรายการเลย และก็ทำเงินให้ Workpoint ได้ดีเช่นกัน

แต่ที่สุดก็ต้องเป็นคอนเทนต์

อย่างไรก็ตามนั่นคือการจัดการสื่อออนไลน์ของรายการ The Mask Singer แต่ถึงใช้สื่อได้ดีเพียงใด หากเนื้อหาคอนเทนต์ไม่โดนใจ รายการก็คงไม่สามารถเป็นกระแสได้มากขนาดนี้

The Mask Singer นั้นมีองค์ประกอบหลักครบของรายการสมัยใหม่ที่ใช้สื่อออนไลน์ควบคู่ในการสร้างกระแส นั่นคือมี (1) ความลับ (2) ดนตรี (3) ความขบขัน

ความลับทำให้คนดูสงสัยและพูดคุยกันมาก ก่อให้เกิดกระแสในโลกออนไลน์ จะเห็นได้ว่าคลิปนักสืบทั้งหลายใน YouTube ก็มีคนดูเป็นล้าน ขณะเดียวกันรายการมีดนตรีเสียงเพลงทำให้คนสามารถดูซ้ำแล้วซ้ำอีกได้ไม่เบื่อ และสุดท้ายอารมณ์ขันในรายการทำให้เข้าถึงคนไทยได้ง่าย

สมศักดิ์ศรีรายการแห่งปี 2017 จริงๆ (ก็เว้นแต่ตอนจบของสัปดาห์นี้จะทำให้คุณหงุดหงิดน่ะนะ)

SHARE :
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
arjin
the authorarjin
ผู้เขียนข่าวสาระกึ่งบันเทิงเชิงโดนบีบบังคับประจำ Faceblog ติดตามงานทั้งหมดที่ fb.com/arjinblog ฮะ ♥