ทุกเพจที่สร้างขึ้นบน Facebook นั้น ก็อยากให้ทุกอย่างที่ตัวเองโพสต์นั้นแสดงให้แฟนๆ เห็นใช่มั้ยฮับ แต่ก็ต้องอย่าลืมว่า สิ่งที่ผู้ใช้จะอ่านใน News Feed นั้น ก็มีขีดจำกัดในแต่ละวันเหมือนกัน (ไม่มีทางที่คนเราจะอ่านทุกเรื่องจากเพื่อนหรือเพจได้หมด คือใครมันจะนั่งเล่น Facebook อยู่ทั้งวัน) ทุกวันนี้การแข่งขันของ Facebook Page เพื่อที่จะมีที่ยืนใน Feeds มีมากขึ้น และผู้ใช้ Facebook ก็กดไลก์เพจมากขึ้นกว่าเดิม 50% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่สถิติใหม่ของผู้ใช้ที่จะจมจ่อมกับ News Feed นั้น อยู่ที่ 45 นาที
Facebook นั้นเรียงความสำคัญของ News Feed ยังไง
เรารู้ว่า Facebook มีอัลกอริทึมที่จัดเรียง News Feed มาให้เราอ่าน แต่อัลกอริทึมนั้นเป็นยังไงก็เป็นปริศนา แน่นอนว่า Facebook คงไม่เฉลยให้เรารู้ทั้งหมด แต่ก็มีการแพลมแนวทางมาให้ประมาณนี้ (ข้อมูลโดย News Feed Director นามว่าคุณ Cathcart ที่ไม่ได้อ่านว่าชัชชาตินะ) เค้าบอกมาว่า ตอนนี้มีการใช้ตัวชี้วัดมากกว่า 100,000 ตัวในการคัดกรองฟีด และสิ่งที่จะทำให้โพสต์นั้นถูกโชว์ในฟีด เค้าจะพิจารณาจากปัจจัยนี้
- ความป๊อปปูลาร์ (มีการไลก์, แชร์, คอมเมนต์ หรือคลิก) จากโพสต์ถึงทุกคน
- ความป๊อปปูลาร์ของโพสต์เมื่อมีคนเห็นโพสต์นี้
- ความป๊อปปูลาร์ของผู้โพสต์คอนเทนต์นี้ในกาลก่อน
- ประเภทของโพสต์ (สเตตัส, รูป, วิดีโอ, ลิงก์) สัมพันธ์กับประเภทของโพสต์ผู้เห็นจะชอบ เช่น ถ้าผู้เห็นชอบดูคลิป เค้าก็จะเห็นโพสต์ประเภทคลิปมากกว่าโพสต์ประเภทอื่นๆ
- ระยะเวลาของโพสต์ที่เพิ่งโพสต์
ความน่ากลัวของปัจจัยนี้คือ เพจที่คอนเทนต์ดีเป็นที่นิยมอยู่แล้วก็จะมีเรตติ้งดีขึ้นไปอีก ในขณะที่เพจคอนเทนต์ไม่ดี ถ้าไม่สามารถพลิกกลับมาดีได้ ก็จะไม่ค่อยมีคนเห็นเพจนั้นไปเลย
ทั้งนี้ปัจจัยของแต่ละคนก็จะได้เห็นโพสต์แต่ละแบบไม่เหมือนกัน ส่วนในแง่ของเพจนั้น ก็ต้องหาวิธีเพิ่ม reach กันต่อไป การซื้อโฆษณานั้นอาจจะเป็นการเพิ่ม reach ได้วิธีหนึ่ง แต่ก็ต้องตระหนักเอาไว้ว่า มันเป็นวิธีที่ไม่ยั่งยืน วันใดไม่ได้ซื้อโฆษณา reach ที่ได้มานั้นก็จะหมดไป
ในแง่ของผู้ใช้ อาจจะไม่พอใจกับระบบของ Facebook ที่อัลกอริทึมอาจจะไม่ได้เข้าถึงใจเราจริงๆ ว่าเราชอบอะไร หรืออยากจะดูคอนเทนต์จากเพจไหน สิ่งที่พอจะช่วยได้ในตอนนี้ คือพยายามเข้าไปดูเนื้อหาในเพจที่เราสนใจบ่อยๆ และมีปฏิสัมพันธ์กับเพจนั้นบ้าง เช่น กด Like ก็ว่ากันไป รอไม่นานเนื้อหาจากเพจนั้นๆ ก็จะขึ้นโชว์ใน News Feed ของเราเองฮับ
ที่มา – TechCrunch