All Post

ความพยายามอธิบาย “มีมชัชชาติ” อะไรคือปัจจัยสร้างปรากฏการณ์

ประเทศไทย พ.ศ. 2557 หลังเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ กระแส “มีมชัชชาติ รมว.คมนาคมที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” ยังแรงต่อเนื่องไม่มีตก

1477390_593529397362530_66696691_n-640x360

ในวงการไวรัลมีคำพูดคำหนึ่งกล่าวไว้ว่า เราไม่สามารถพยากรณ์ไวรัลได้ล่วงหน้า เพราะไม่มีทางรู้ว่าอะไรจะดัง อะไรจะดับ ตลาดจะชอบอะไร แต่เราสามารถอธิบาย (ตามหลัง) ได้ว่าเพราะเหตุใดไวรัลนั้นจึงดัง

ความสำเร็จของมีมชัชชาติถือว่าเป็นไวรัลระดับ phenomenon ของประวัติศาสตร์อินเทอร์เน็ตไทย และบทความนี้เป็นความ “พยายาม” ในการอธิบายตามหลังว่าทำไมชัชชาติจึงกลายเป็นกระแสของผู้คน

หมายเหตุ: ภาพประกอบบทความทั้งหมดที่ไม่ได้ใส่เครดิตไว้ใต้ภาพ นำมาจาก Facebook ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ โดยเข้าชมโพสต์ภาพต้นฉบับจากการกดลิงก์ที่ตัวภาพ

ภาพลักษณ์ของ ‘รัฐมนตรี’

“รัฐมนตรี” คือเจ้ากระทรวง เป็นตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองการปกครองไทยในแต่ละกระทรวง และมีศักดิ์ศรีเป็นรองแค่ “นายกรัฐมนตรี” (คำแปลก็คือ หัวหน้าของรัฐมนตรี) เท่านั้น ในอดีตเราเรียกตำแหน่งเจ้ากระทรวงว่า “เสนาบดี” ซึ่งก็มีความหมายตรงกับคำว่า “เสนาอำมาตย์”

ภาพลักษณ์ของ “เสนาบดี” “เจ้ากระทรวง” “รัฐมนตรี” จึงมักเป็นชายอาวุโส ดูภูมิฐาน น่าเชื่อถือ ถึงแม้บุคลิกของชายเหล่านี้อาจแตกต่างกันไปตามลักษณะเฉพาะบุคคล (เช่น ใส่แว่น หัวล้าน ไว้หนวด ลงพุง) แต่จุดร่วมกันของ “ความเป็นรัฐมนตรี” เมื่อมองจากภาพลักษณ์ภายนอกก็มักคล้ายๆ กันคือ ใส่สูทผูกไท (หรือผ้าไหมไทยที่โดนบังคับใส่มา) แต่งตัวหรูดูมีชาติตระกูล มีคนเดินตามเป็นพรวน นั่งหัวโต๊ะมีข้าราชการนั่งล้อม ฯลฯ ซึ่งเราคุ้นเคยกับภาพลักษณ์ลักษณะนี้ของคนที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหรือข้าราชการระดับสูงมานาน

ภาพแบบข้างล่างนี้จึงดูธรรมดาๆ ไม่มีอะไรพิเศษ ผู้ชายแต่งตัวสุภาพ เป็นรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะ ข้างหลังมีตราหรือป้ายกระทรวง นั่งสั่งงานข้าราชการ ภาพถ่ายดูราชการเต็มขั้น สีซีดๆ (ข้างล่างนี่ปรับสีเพิ่มแล้วนะครับ)

รัฐมนตรี ชัชชาติ

เครดิตภาพจากเว็บไซต์กระทรวงคมนาคม

ชัชชาติ หัวโต๊ะ

ภาพที่คุ้นเคย: รัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะ ฟังข้าราชการรายงาน

ชัชชาติ หัวโต๊ะ

ภาพที่คุ้นเคย: รัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะ ข้าราชการรายงาน นักข่าวคอยล้อม ด้านหลังมีป้ายรัฐมนตรีในอดีต เพิ่มความขลัง

ชัชชาติ ยิ่งลักษณ์

ภาพที่คุ้นเคย: รัฐมนตรี ตรวจงาน อธิบายข้อมูลให้นายกรัฐมนตรีฟัง ข้างหลังมีข้าราชการและสต๊าฟเดินตามเป็นพรวน

Redefine ภาพลักษณ์รัฐมนตรี

ปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ “ชัชชาติ” กลายเป็นรัฐมนตรีที่ถูกจดจำ ย่อมมาจาก “ภาพลักษณ์” ที่แสดงออกมานั้นมีความขัดแย้ง (contrast) กับภาพลักษณ์ของรัฐมนตรีตามประเพณีอยู่มาก สิ่งที่เราเห็นผ่าน social network จึงเป็นภาพถ่ายของ “ผู้ชายที่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐมนตรี” ไปทำท่าอะไรแปลกๆ ชนิดว่าไม่บอกหรือไม่รู้จักมาก่อน คงไม่มีใครเชื่อว่าเป็นภาพของ “รัฐมนตรีไทยที่ควรจะเป็น”

อย่างเช่น

ชัชชาติ เป็ด

“รัฐมนตรีกับเป็ด”

เราอาจมีโอกาสเห็นรัฐมนตรีไปถ่ายรูปกับเป็ดเพื่อเปิดงานหนองประจักษ์ แต่ภาพที่น่าจะเป็นน่าจะออกมาเป็นรัฐมนตรีอยู่ในเต๊นต์ทำพิธีการกดปุ่มสูบลมเป็ด มีข้าราชการหรือประชาชนนั่งดู (ถูกเกณฑ์มา) สิ่งที่เราเห็นกลับกลายเป็นรัฐมนตรีหุ่นล่ำในชุดวิ่งจ๊อกกิ้ง ถ่ายภาพกับเป็ดแบบตั้งใจโชว์เพื่อนวัยรุ่น

ชัชชาติ ไหว้พระ

ชัชชาติ ไหว้พระ

ชัชชาติ ใส่บาตร

“รัฐมนตรีไหว้พระ”

ภาพเซ็ตนี้เป็นอีกตัวอย่างของ “ความบ้าน” ของรัฐมนตรีชัชชาติ ซึ่งตามปกติแล้วเรามักเห็นรัฐมนตรีนั่งเป็นประธานที่วัด ในงานฝังลูกนิมิตหรือยกช่อฟ้าโบสถ์ มีผู้หลักผู้ใหญ่เข้ามายืนในฉาก แต่พอเป็น #ชัชชาติ สิ่งที่เราเห็นกลับเป็นฉากใส่บาตรแบบบ้านๆ หิ้วถุงพลาสติก ถุงแกง ถอดรองเท้าใส่บาตรกันตามฟุตบาท ซึ่งเป็นซีนที่เราเห็นได้ทั่วไป ทำให้ผู้ชมภาพมีอารมณ์ร่วมในความ “ธรรมดา” ของรัฐมนตรีท่านนี้ (ถ้าเป็นการสร้างภาพก็ต้องถือว่าเก่งมาก)

ความเป็น ‘ชัชชาติ’

นอกจากคุณชัชชาติจะทำลาย “ภาพลักษณ์ของความเป็นรัฐมนตรี” ในแบบเดิมๆ ลงได้แล้ว คุณชัชชาติยังมีคุณลักษณะอีกหลายอย่างที่ทำให้ตัวเขาต่างออกไปจากรัฐมนตรีทั่วไป

เพื่อความสะดวกก็ขออ้างงานเดิมของตัวเอง ปรากฏการณ์ “ชัชชาติ” สร้างภาพหรือทำงานจริง? จาก Siam Intelligence มารีรันนะครับ

ชัชชาติเป็นรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากภาคการเมือง (แม้จะเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยก็ตาม) ทำให้ไม่ได้มีวิธีคิดแบบนักการเมืองเลือกตั้ง และไม่จำเป็นต้องสนใจคะแนนเสียง เน้นการทำงานบริหารอย่างเดียว จุดนี้จะคล้ายกับรัฐมนตรีคนนอกในสมัยรัฐบาลทักษิณ 1 ที่ประสบความสำเร็จในแง่การทำงานบริหารเช่นกัน

ชัชชาติมาจากสายวิชาการมาก่อน (เป็นอาจารย์วิศวฯ จุฬาฯ) ทำให้เข้าใจงานภาคทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง การทำงานเชิงวิชาการที่ต้องมีข้อมูลสนับสนุน การทำงานกับระบบราชการ และการนำเสนอเรื่องราวให้เข้าใจง่าย ซึ่งสังเกตจากการนำเสนอแผนงานด้านโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านของชัชชาติ จะมีเหตุผลทางวิชาการกำกับเสมอ ถึงแม้จะไม่บู๊ดุเดือดแต่ก็ได้ใจคนชั้นกลางที่ต้องการเหตุผลกึ่งวิชาการมาสนับสนุนแนวทางการดำเนินงาน

ชัชชาติไม่ใช่เพิ่งมาทำงานการเมืองเป็นครั้งแรก เขาเคยเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีมาก่อน แล้วจึงได้ขยับเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1/1 ซึ่งในตอนนั้นถูกมองว่าเป็นรัฐมนตรีที่โลกลืมด้วยซ้ำ เมื่อได้ขยับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการเต็มตัว ทำให้มีประสบการณ์การทำงานกับกระทรวงคมนาคมมาช่วยสนับสนุนการทำงานในฐานะเจ้ากระทรวงด้วย ไม่ใช่ว่าเพิ่งมาเป็นรัฐมนตรีแล้วมีผลงานเข้าตาทันที

บุคคลิกส่วนตัวของชัชชาติเอง ที่เป็นคนไม่ก้าวร้าว ยอมรับความจริง มุ่งเน้นการแก้ปัญหา รู้จักขอโทษประชาชน แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่โบ้ยปัญหาไปให้พนักงานระดับล่าง เน้นการให้กำลังใจและแก้ปัญหาที่ตัวระบบหรือกลไกราชการที่ล่าช้า ซึ่งทำให้ชัชชาติได้รับความนิยมทั้งในหมู่ประชาชนทั่วไป และในหมู่พนักงานระดับปฏิบัติงาน

ชัชชาติ วิ่งมาราธอน

รัฐมนตรีชัชชาติเป็นคนชอบออกกำลังกาย เราจึงเห็นภาพแนวๆ นี้อยู่บ่อยครั้ง และส่งผลให้เกิด “มีมกล้ามเนื้อ” ชัชชาติผู้แข็งแกร่งในที่สุด

ชัชชาติ จักรยาน

ภาพนี้ถ่ายก่อน “ขี่จักรยานไปเลือกตั้ง” นานพอสมควร แต่เป็นการขี่จักรยานไปเปิดงานของ รฟม.

ผลงานของ ‘ชัชชาติ’

ชัชชาติถูกวิจารณ์อยู่บ้างว่ายังไม่ค่อยมีผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอันมากนัก (ใครอยากเห็นเขาเป็นนายกคงต้องรออีกสักพักใหญ่ๆ) แต่ก็โชคดีที่ได้มาทำงานในกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นกระทรวงที่มีปัญหาเรื้อรังมานาน แต่เป็นปัญหาใกล้ตัวที่ทุกคนสัมผัสได้ เมื่อชัชชาติลงมา “คลุกกับปัญหา” อย่างน้อยๆ ก็ลงพื้นที่ทันทีเมื่อเกิดปัญหา ลุยงานเอง เข้าถึงคนทำงานจริงเอง ทำให้สไตล์การทำงานแบบ “ถึงลูกถึงคน” ได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างมาก (อารมณ์เดียวกับสรยุทธลุยช่วยน้ำท่วม ก็ได้เสียงตอบรับดีเช่นกัน)

อ้างงานเก่าอีกเหมือนเคย

ในแง่ของตัวปัญหาเอง ปัญหาด้านการคมนาคม ถือเป็นที่ประชาชนทุกคนสัมผัสโดยตรงอยู่แล้วไม่ว่าจะทางไหน (รถติด การขนส่งสาธารณะไม่มีประสิทธิภาพ สภาพผิวจราจร-ฟุตบาทไม่เหมาะกับการเดินทาง) ดังนั้นไม่ว่าชัชชาติลงไปแตะเรื่องไหน ก็จะมีกลุ่มคนที่รู้สึก “อิน” มีความรู้สึกร่วมกับปัญหาที่รัฐมนตรีลงไปสัมผัสด้วยตัวเองเสมอ

ปัญหาด้านการคมนาคมไทย เป็นปัญหาที่เรื้อรังและถูกเพิกเฉยมานาน เช่น ปัญหาความล่าช้า-การให้บริการของ รฟท., ปัญหาหนี้สะสม-การให้บริการของ ขมสก., ความไม่มีประสิทธิภาพของแอรพอร์ตเรลลิงก์, ปัญหาแท็กซี่ไม่รับผู้โดยสาร ฯลฯ ทำให้คนจำนวนมากรู้สึกว่าการลงมาลุยปัญหาของชัชชาติเป็น “ความหวัง” จากเดิมที่ต้องเอาตัวรอดกันเองมานาน ในแง่การตลาดถือเป็นการนำเสนอ “อุปทาน” ชั้นดีในภาวะตลาดที่มี “อุปสงค์” โหยหาสินค้ามานาน

การลงมาลุยปัญหาของชัชชาติ มีลักษณะคล้ายกับกรณีอดีตนายกฯ ทักษิณ ติดป้ายกระตุ้นเรื่องรถติด สมัยที่เริ่มเข้าสู่วงการการเมืองใหม่ๆ แต่ระยะยาวต้องดูเปรียบเทียบว่าชัชชาติที่มีอำนาจในมือในฐานะรัฐมนตรีจะแก้ไขได้แค่ไหน (ซึ่งทักษิณในตอนนั้นแค่ติดป้าย แต่ไม่ได้ลงมาแก้ปัญหาจริงจัง) ซึ่งชัชชาติก็ออกตัวหลายครั้งว่าว่าจะพยายามทำงานโดยไม่ยึดติดกับความเป็นรัฐมนตรีเพียงคนเดียว และพยายามสร้างระบบที่เดินหน้าไปได้

ใช้การสื่อสารสองทาง นอกจากใช้ Facebook เล่าความคืบหน้าของการลงไปสัมผัสปัญหาแล้ว ยังรับฟังเสียงของประชาชนว่าปัญหาอะไรที่ควรรีบแก้ไข เช่น รถเมล์สายใดมีปัญหามากที่สุด หรือ ปัญหาสายด่วน 1584 ที่ไม่สามารถติดตามปัญหาได้อย่างที่โฆษณา ซึ่งหลังจากนั้นชัชชาติก็แสดงให้เห็นว่าไม่ได้เพิกเฉยต่อความเห็นเหล่านี้ และลงพื้นที่สัมผัสปัญหาเอง ทั้งการขึ้นรถเมล์สาย 8 ที่มีปัญหามากที่สุด หรือเยี่ยมชมสำนักงานของสายด่วน 1584 เพื่อรับทราบข้อมูลของผู้ปฏิบัติงานทันที

ชัชชาติ รถเมล์

ในอดีตเราเคยเห็นรัฐมนตรีนั่งรถเมล์กันอยู่บ้าง แต่ถึงขนาดนั่งสาย 8 หรือนั่งรถไฟชั้น 3 บ่อยๆ คงมีไม่เยอะนัก

ชัชชาติ รถไฟ

ภาพนี้เป็นอีกตัวอย่างของ “รัฐมนตรีนั่งรถไฟชั้น 3” แถมช่วงที่ผ่านมาดันมีปัญหารถไฟตกรางพอดี ภาพลักษณ์เลยยิ่งโดดเด่น

ชัชชาติ รถไฟ

โอกาสที่เราจะได้เห็น “รัฐมนตรีนั่งคุยกับคนบนรถไฟ” แล้วเอาเรื่องของคนนั้นมาโพสต์ Facebook คงเป็นไปได้ยาก แต่ก็เป็นไปแล้ว

ด้วยปัจจัยทั้งหมดทั้งปวงนี้ ไม่ว่าจะเป็นตัวของชัชชาติเองที่ดูบ้านๆ ลุยๆ, งานที่กระทรวงคมนาคมที่ใกล้ตัวและเป็นปัญหาเรื้อรัง, ภาพลักษณ์ที่ดูเข้าถึงง่ายและเป็นมิตร (พี่แกยิ้มตลอด) เมื่อผนวกกับการใช้งาน social network ที่โดดเด่น ฉับไว รับฟังความคิดเห็นของแฟนเพจ มีการสำรวจข้อมูลและตอบกลับตลอดเวลา ทำให้ชัชชาติกลายเป็นรัฐมนตรีขวัญใจประชาชนมากที่สุดคนหนึ่งในยุคสมัยนี้

ชัชชาติ รัฐมนตรี

ภาพชัชชาติในหน้าผู้บริหารกระทรวงคมนาคม รูปที่ควรเก๊กที่สุด พี่แกยังยิ้ม!!!

แต่เขียนมายาวเฟื้อย ทั้งหมดที่ว่ามาข้างต้นนั้นสามารถอธิบายได้แค่ว่า ทำไมชัชชาติจึงได้รับความนิยมหรือความรู้สึกดีๆ จากมวลมหาประชาชน (มติชนเขียนถึงว่า ว่ากันว่า เขาอาจเป็นคนเดียวในรัฐบาลชุดนี้ที่ “กปปส.ไม่เกลียด”) แต่กลับยังไม่สามารถอธิบายได้ว่า “มีมชัชชาติถือถุงกับข้าว” มันฮิตได้อย่างไร

ว่าด้วย “มีมชัชชาติ”

มีมชัชชาติมีที่มาจากภาพ “ชัชชาติไปใส่บาตรที่สุรินทร์” โดยใส่เสื้อดำกางเกงดำแบบเรียบๆ บ้านๆ ถือถุงกับข้าวเดินเท้าเปล่า เข้าวัดเพื่อจะไปใส่บาตรยามเช้า (โพสต์ต้นฉบับ)

ดูภาพกันอีกรอบนะครับ

chadchart meme original

ภาพนี้ระบุว่าเป็นภาพที่แฟนคลับส่งมาให้ในเพจแฟนคลับชัชชาติ (ไม่ใช่เพจ official ด้วยซ้ำ) แต่ด้วยความบังเอิญอะไรไม่ทราบ ภาพนี้องค์ประกอบสำคัญครบ

  • เครื่องแต่งกายของรัฐมนตรีติดดินสุดๆ เสื้อกางเกงสุดเพลน ถือถุงกับข้าว ที่สำคัญเท้าเปล่าด้วย (ในเชิงสัญลักษณ์จึงอาจพออธิบายได้ว่า เท้าเปล่าทำให้ดูติดดินมากเป็นพิเศษ)
  • รูปร่างของรัฐมนตรีดูมีกล้ามเนื้อ ซึ่งส่งผลให้เกิดการตัดต่อในเชิง “บ้าพลัง” (ซึ่งจะกล่าวต่อไปในภายหลัง)
  • พื้นที่เปิดโล่ง ภาษาออกแบบเรียกว่ามี space ให้เกิดจินตนาการเพิ่มเติม เราจึงเห็นการตัดต่อภาพมีมนี้โดยใส่ตัวละครอื่นๆ ลงไปได้อีกมาก โดยใช้ประโยชน์จากพื้นที่ว่างบนลานวัดนี้
  • ภาพนี้ไม่มีสิ่งอื่นใดนอกจากตัวชัชชาติเอง subject โดดเด่นมาก เราจึงเห็นการตัดต่อภาพโดยวางตัวละครอื่นๆ เข้ามาทำปฏิสัมพันธ์ (interaction) กับตัว subject อยู่ตลอด
  • ฉากหลังเป็นวัดที่ดูบ้านๆ สร้างอารมณ์ร่วมได้ดี (ลองคิดถึงว่าถ้าชัชชาติเดินไปใส่บาตรวัดดังๆ แบบวัดพระแก้ว วัดอรุณ คงดูไม่เด่นเท่านี้) ยิ่งช่วยขับให้ subject เด่นขึ้นอีก ในขณะเดียวกันก็เพิ่มเรื่องราวของความพื้นความเพลนเข้ามาอีก
  • เป็นภาพที่มีกิจกรรมคือ “เดิน” ชัชชาติกำลังเดิน ไม่ใช่ยืนหรือนั่งนิ่งๆ ดังนั้นกริยามีความ dynamic มีการเคลื่อนที่ การนำภาพไปใช้ต่อจึงง่ายและมีเรื่องราวมากขึ้นมาก (ลองคิดว่าภ้าเป็นภาพชัชชาติยืนเฉยๆ คงไม่เห็นการตัดต่อชัชชาติบนแคทวอล์คหรือเดินบนดวงอาทิตย์)

ดังนั้นเมื่อสตอรี่ของตัวชัชชาติเองถูกปูทางมาอยู่แล้วใน social network สักระยะหนึ่ง (นานพอสมควรจนแพร่หลาย) เมื่อมีภาพนี้หลุดออกมาแล้วมีคนหัวใสตัดต่อภาพชิ้นแรกขึ้น มันจึงระบาดกลายเป็นไวรัล และถูกตัดต่อซ้ำจนกลายเป็น “มีม” อย่างแพร่หลาย (อะไรคือมีม? อ่าน  Internet Meme ภาคทฤษฎี)

การที่เทคโนโลยีการตัดต่อภาพและกระจายผ่าน social network ง่ายขึ้นมาก (อ่านทฤษฎีตามลิงก์ในย่อหน้าที่แล้ว) มันเลยยิ่งเป็นปัจจัยเร่ง (multiplier) ให้การตัดต่อเยอะขึ้นเรื่อยๆ เพราะขอแค่มีความรู้กราฟิกอยู่บ้าง มีจินตนาการนิดหน่อย ก็สามารถผลิตซ้ำภาพใหม่ๆ ออกมาให้เพื่อนฝูงสนุกสนานไปกับมันได้ พอมีคนทำออกมาหลายๆ แบบ คนที่มีศักยภาพพอทำได้ก็อยากทำเวอร์ชันของตัวเองบ้าง โดยจะอยู่ในรูป ชัชชาติ + ประสบการณ์หรือจินตนาการของตัวเอง (ซึ่งก็มักหนีไม่พ้นการ์ตูนหรือภาพยนตร์ที่ชื่นชอบ)

chutchat-1

chutchat-2-640x517

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ “มีมชัชชาติ” กลายเป็นกระแสในรอบ 3-4 เดือนให้หลัง น่าจะมาจากความเครียดและความกดดันจากสถานการณ์การเมืองที่ร้อนแรง เมื่อบวกกับชัชชาติที่ไม่ได้แสดงออกทางการเมืองแบบสุดขั้ว (radical) มากนัก (แถมยังแสดงออกในเชิงว่า “คิดต่างกันอยู่ร่วมกันได้” และมีตัวอย่างของพี่ชายฝาแฝดที่ไปร่วมชุมนุมกับ กปปส. ที่อยู่ขั้วตรงข้ามด้วย) ทำให้ภาพลักษณ์ของชัชชาติอาจดู “กลางๆ” ไม่เอนเอียงไปทางข้างใดข้างหนึ่ง

เมื่อชัชชาติเลือกข้างไม่ชัดเจน ทำให้ผู้คนทั้งสองด้านทางการเมืองยอมรับ (อย่างที่จั่วหัวไปข้างต้นว่า เขาอาจเป็น รมต. คนเดียวใน ครม. ชุดนี้ที่ กปปส. ไม่เกลียด) เมื่อบวกกับมีมที่ทำทางให้ล้อเลียนมาก่อนแล้ว การสร้างมีมล้อเลียนชัชชาติยิ่งกลายเป็นการระบายออกจากความกดดันทางการเมืองในเชิงตลกขบขัน (ซึ่งเป็นวิถีที่ค่อนข้างจะ “ไทยๆ” มาก)

ตัวอย่างภาพข้างล่างนี้ถือเป็นการระบายออกอย่างหนึ่งของความเครียดทางการเมือง โดยจับคู่ขัดแย้งอย่างทักษิณและสุเทพ (ที่มีท่าไหว้อยู่แล้ว) มากราบ “ท่านชัชชาติ” ในทำนองว่าผิดไปแล้วที่ทะเลาะกัน

ภาพจากเพจ โหดสัส
ภาพจากเพจ โหดสัส

หมายเหตุ: อ่านเรื่องการนำเสนองานในเชิงตลกเสียดสีที่ไม่เป็นทางการได้จากหนังสือ “อัตลักษณ์ไทย: จากไทยสู่ไทยๆ” ของประชา สุวีรานนท์ ที่พูดถึงประเด็นนี้ไว้อย่างละเอียดกับงานโฆษณาไทยเชิงตลก (เช่น โฆษณาชุดไอ้ฤทธิ์กินแบล็ค) โดยประชาเรียกอัตลักษณ์ไทยแบบในกรอบว่า “ไทย” และอัตลักษณ์แบบนอกกรอบว่า “ไทยๆ”, อ่านเพิ่มเติมในบทสัมภาษณ์ของประชาที่ สัมภาษณ์ ประชา สุวีรานนท์: รีดีไซน์ “ไทยๆ” แลนด์

เจ้าตัวเล่นเอง ตัวคูณของกระแสชัชชาติ

ช่วงต้นๆ ของกระแสมีมชัชชาตินั้น เราพอเห็นท่าทีในเชิงกล้าๆ กลัวๆ ของผู้ตัดต่อภาพว่า “คุณชัชชาติจะว่าอะไรไหม” “แรงไปไหม”

ความหวาดหวั่นเหล่านี้สิ้นสุดลงไปในทันที เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2014 ในช่วงที่กระแส Shutdown Bangkok กำลังสร้างความหวั่นใจให้กับประชากรในประเทศกรุงเทพ ว่าจะไปทำงานได้ไหม รถจะติดไหม

เพจของชัชชาติได้โพสต์รูปตัดต่อที่ล้อเลียนประเด็นคำพ้องเสียง “Shutdown” = “ชัช+ดาว” โดยมีเนื้อหาเชิงวิชาการพูดถึงสภาพจราจรในกรุงเทพ แต่เนื้อหาก็ส่วนเนื้อหา ประเด็นสำคัญกลับเป็นคำอธิบายในย่อหน้าสุดท้ายที่บอกว่า

การรับมือ “ชัชดาว” (รูปผมตอนใส่บาตรที่สุรินทร์ มีพวกเราเอาไปตัดต่อกันเยอะ รูปชัชดาวนี่ก็เป็นหนึ่งในนั้น ไอเดียสุดยอดจริงๆ ขอคารวะ) นอกจากเตรียมตัวให้พร้อมแล้ว คงต้องใช้วิธี “ยิ้มสู้” ครับ มองโลกในแง่ดีว่าทำให้ได้หยุดเรียน มีข้ออ้างในการมาทำงานสาย และกลับบ้านดึก มีเวลาอยู่กับครอบครัวในรถมากขึ้น จะได้ไม่เครียดมาก

ย่อหน้านี้กลายเป็นคำอธิบายแบบอ้อมๆ ที่บอกสาธารณชนคนมีมว่า “เล่นได้เลยไม่เป็นไร” และกลายเป็นเหมือนใบอนุญาตให้เกิดกระแสมีมชัชชาติตามมาอีกเยอะในหลายสัปดาห์ต่อมา

หลังจากนั้น เพจชัชชาติยังลงรูปล้ออีกหลายรูป แถมมีการ์ตูน มีไอคอนประกอบตามสมัยนิยมด้วย เรียกว่าทีมงานเฟซบุ๊กรัฐมนตรีทำงานเกาะกระแสกันอย่างเต็มที่

ที่เหลือตามไปดูกันเองในเพจรัฐมนตรีครับ

ชัชช่าบ้าพลัง Staying Power

ธีมหนึ่งที่เห็นได้ชัดจากมีมชัชชาติคือ “ความบ้าพลัง” หรือ “กล้ามเนื้อ” (muscles) โดยอาศัยภาพลักษณ์ของชัชชาติที่ตัวล่ำๆ กล้ามใหญ่ๆ ผิดวิสัยรัฐมนตรี มาผสานเข้ากับการ์ตูน เกมส์ หรือภาพยนตร์แนวๆ กล้ามเนื้อ แอคชั่น ต่อสู้ ที่คนตัดต่อภาพทั้งหลาย (ซึ่งก็น่าจะเป็นผู้ชายอยู่ในช่วงอายุปลาย Gen X ต้น Gen Y) คุ้นเคยกันดีกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นหรืออเมริกัน

เราจึงเห็นชัชชาติถูกดัดแปลงไปเป็นนักรบจาก 300, ฮีโร่จาก Avengers, ใส่เกราะแบบเซนต์เซย่า, เบ่งพลังแบบดราก้อนบอล, ไปต่อยกับฮันมะ ยูจิโร่ (สุดยอดคาแรกเตอร์สายบ้าพลังจากการ์ตูนเรื่อง บากิ), ไปถล่มเมืองตามแนวหนังหายนะทั้งหลาย, ต่อสู้แบบแก๊งมาเฟียฮ่องกง ฯลฯ (มากมายนับไม่ถ้วน) ในลักษณะเดียวกับที่ Chuck Norris ดาราอเมริกันเคยเจอมาก่อน

ทีมงาน Faceblog ได้พยายามรวมรูปมีมชัชชาติเก็บไว้บน Pinterest Chadchart Power ใครสนใจดูรูปอื่นๆ ก็ตามไปดูได้นะครับ (รูปเยอะมากคงลงได้ไม่หมด)

“ชัชชาติบ้าพลัง” จึงเป็นส่วนผสมที่เกิดขึ้นจาก “ความเป็นชัชชาติ” กับ “จินตนาการของผู้ชาย” โดยผ่านเครื่องมือตัดต่อภาพแบบ Photoshop และส่งต่อกันจนเกิดเป็นกระแส

การดัดแปลงแนวบ้าพลังนี้ยังค่อยๆ สั่งสมตัวจนกลายเป็น “มีมซ้อนมีม” เกิดการ์ตูนล้อเรื่องความเก่งฉกาจของชัชชาติตามมาอีกมาก (ซึ่งก็จะเป็นแนวเดียวกับ Chuck Norris อีกนั่นแหละ)

chutchat-3

 Sub-meme ชัชชาติซ้อนชัชชาติ

กระแสชัชชาติกลายเป็น cult และก่อให้เกิดการต่อยอดมีมซ้อนมีม มีมย่อยของชัชชาติอีกหลายอย่าง เช่น

ชัชชาติกับแมว 

เรื่องเกิดจากวันที่ 24 ม.ค. 2014 รัฐมนตรีชัชชาติไปตรวจสถานีรถไฟลาดกระบัง แล้วไปเจอแมวในห้องนายตรวจตั๋วชื่อ “เจ้าหลง” แล้วเอามาโพสต์ใน Facebook

กระแสมวลมหาประชาคนรักแมว ดีดตัวตอบรับรูปแมวรัฐมนตรีทันที โพสต์นี้ได้รับการกดไลค์ 3.1 หมื่นครั้ง เทียบโพสต์ก่อนหน้าที่ชัชชาติไปเยี่ยมตำรวจจราจร ได้คะแนนไลค์ไปเพียง 9.7 พันครั้งอย่างเทียบไม่ติด (ที่ตลกคือในโพสต์ต่อมา “เจ้าหลง” กลายร่างเป็นแมวห้อยนกหวีดซะอย่างงั้น)

หลังจากนั้น “เจ้าหลง” ก็เลยเปลี่ยนสถานะเป็น “สัตว์เลี้ยงของชัชชาติ” ในมีมชัชชาติเดินไปในที่สุด (ดูรูปชัชชาติโปเกมอน มีเจ้าหลงเกาะไหล่ได้ข้างบนๆ) และก็มีโพสต์แบบ “เจ้าตัวเล่นเอง” ตามมาอีก

ชัชชาติกับจักรยาน

รัฐมนตรีชัชชาติทั้งวิ่งและขี่จักรยานมานานแล้ว แต่มาฮิตแตกในวันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ ที่คนทั้งประเทศจับตาดูว่า เฮ้ย จะมีความรุนแรงอะไรบ้างไหม สิ่งที่เราเห็นกลับเป็นข่าวรัฐมนตรีชัชชาติขี่จักรยานมาเลือกตั้ง! (แถมใส่เสื้อเด็กแนวแบบ a day) ทำให้ชาวบ้านงงกันเป็นแถบๆ

หลังจากนั้นเราเห็น sub-meme ชัชชาติขี่จักรยานตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นชัชชาติขี่ฉลาม ชัชชาติขี่มอเตอร์ไซด์ไอ้มดแดง ฯลฯ รวมถึงมีคนโพสต์ถามหาจักรยานสีแดงรุ่นเดียวกับรัฐมนตรีใช้อีกด้วย

ชัชชาติคอสเพลย์

ความเรียบง่ายของภาพมีมชัชชาติเวอร์ชันต้นฉบับ โดยเฉพาะเครื่องแต่งกาย เสื้อแขนกุดสีดำ กางเกงขาสั้นสีดำ ถอดรองเท้า และพร็อบประกอบฉากคือ “ถุงแกง” ทำให้มันถูกจับมาบวกกับความนิยมเรื่อง “คอสเพลย์” ในหมู่คนรุ่นใหม่ที่นิยมคอสเพลย์ตามการ์ตูนญี่ปุ่น ผลลัพธ์ออกมาเป็น “คอสเพลย์ชัชชาติ” ที่น่าทึ่ง

เราจึงเห็นคนรุ่นใหม่จำนวนมากแต่งกายเป็น “ชัชชาติ” ตามสถานที่ต่างๆ (ด้วยความที่เครื่องแต่งกายหาง่ายมาก แต่แต่งแล้วมี meaning) โดยกลุ่มที่โดดเด่นคือการคอสเพลย์ชัชชาติแล้วไปเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. ซึ่งถือเป็นการ “ล้อการเมือง” แบบที่เขียนถึงไปแล้วข้างต้น

เมื่อเครื่องแต่งกายและท่าทางเหมือนกันหมด การสร้างความโดดเด่นให้กับ “คอสเพลย์ชัชชาติ” จึงอยู่ที่ฉากหลังว่าจะมีความแปลก (exotic) มากน้อยแค่ไหน ที่พิสดารจนต้องเอามาอยู่ในบทความนี้คือคุณ Knott Wittawat คนไทยในอเมริกาที่ไปถ่ายคอสเพลย์ถือถุงกระดาษ (คงหาถุงพลาสติกลำบาก) ที่สำนักงานใหญ่ของกูเกิล

ภาพโดย Knott Wittawat
ภาพโดย Knott Wittawat

ในเพจ ชัชชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี  ยังเปิดให้แฟนๆ ส่งภาพคอสเพลย์ชัชชาติในแบบฉบับของตัวเองมาเผยแพร่ (รวมถึงประกวดเพื่อแจกของรางวัลอย่าง “ตุ๊กตาฟิกเกอร์ชัชชาติ” เวอร์ชัน 3d printing) ตามไปดูต่อกันเองได้ในเพจครับ เอามาลงในนี้คงไม่มีทางเก็บได้ครบ

มีมชัชชาติ ฮิตแค่ไหนกัน

หัวข้อนี้ขอปิดท้ายด้วยการตามหาคำตอบว่า ตกลงแล้วมีมชัชชาติที่ว่าฮิตๆ น่ะ ฮิตแค่ไหน

เพื่อความเป็นวิทยาศาสตร์ เราเลยขอสถิติจากบริษัท Thoth Media ที่ทำระบบติดตาม social network ของไทยชื่อ Kpiology (เท่าที่ทราบคือเก็บสถิติจาก Twitter, Facebook ที่เป็น public, Pantip และเว็บไซต์ข่าวต่างๆ) เพื่อดูว่าความฮิตของ “ชัชชาติ” เทียบกับนักการเมืองไทยคนอื่นๆ เป็นอย่างไรบ้าง

คำตอบออกมาเป็นเส้นสีแดงครับ จะเห็นว่ากระแสชัชชาติบูมสุดๆ เหนือนักการเมืองคนอื่นๆ ในช่วงปลายเดือนมกราคมนี้เอง หลังจากที่ดังแบบจำกัดวงอย่างเงียบๆ มานาน

Chatchart Mention Count - Jan 2014

ที่เขียนไปทั้งหมด หวังว่าคงพอจะอธิบายที่มาที่ไปของ “มีมชัชชาติ” ได้บางส่วนนะครับ (มีมนี้ยังไม่จบ เราคงต้องดูต่อไปในระยะยาวๆ ว่ากระแสจะตกหรือไม่ และทิศทางของมีมจะจบลงเช่นไร ไว้อีกสัก 1-2 ปีถัดจากนี้อาจจะมีโพสต์มามองย้อนดูปรากฎการณ์ชัชชาติว่าเมื่อเวลาผ่านไปแล้ว เราเห็นมันแบบไหน)

SHARE :
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
mk
the authormk
ผู้นำจอมเผด็จการแห่งอาณาจักร Blognone ที่สาม แวะเวียนมาเขียนแถวนี้บ้างเป็นบางเพลา