All PostSocial Network

Internet Meme ภาคทฤษฎี

Faceblog Rage

เราเห็นคำว่า internet meme โน่น internet meme นี่กันมาเยอะ  แล้วตกลงจริงๆ มันคืออะไรกันแน่!!!

บทความนี้เป็นการรวบรวมข้อมูลภาคทฤษฎี (ย้ำว่า “ภาคทฤษฎี” แปลว่าไม่ขำ) เพื่อพยายามหานิยามหรือคำอธิบายของคำว่า internet meme ในเชิงวิชาการ เพื่อใช้เป็นแหล่งอ้างอิงต่อชาว Faceblog ต่อไปฮ่ะ

จุดเริ่มต้นของคำว่า Meme

คำว่า “มีม” หรือ meme ถือกำเนิดขึ้นในปี 1976 โดยนักชีววิทยาสายวิวัฒนาการนิยม (ศัพท์ยากนิดนึง evolutionary biologist) ชาวอังกฤษชื่อ Richard Dawkins

Richard Dawkins (ภาพจาก Flickr ของ Richard Dawkins Foundation)
Richard Dawkins (ภาพจาก Flickr ของ Richard Dawkins Foundation)

Dawkins เสนอคำนี้ในหนังสือยอดฮิตของเขาที่ตีพิมพ์ในปี 1976 ชื่อว่า The Selfish Gene ซึ่งเสนอแนวคิดเกี่ยวกับวิวัฒนาการของมนุษย์อันเป็นผลมาจาก “ยีน”

คำว่า meme เป็นการลดรูปจากคำว่า mimeme ในภาษากรีกโบราณ ส่วนนิยามของ meme ฉบับ Dawkins นั้นแปลว่า “พฤติกรรมของมนุษย์ที่แพร่กระจายจากคนสู่คนในวัฒนธรรมเดียวกัน” ลอกเลียนแบบหรือทำซ้ำกัน แต่ไม่เหมือนกันไปซะทั้งหมด อาจมี mix & match พฤติกรรมลักษณะเดียวกันไปเรื่อยๆ สรุปได้ว่าตามแนวทางของ Dawkins นั้นมองว่า meme เป็นหน่วยย่อยของการส่งต่อวัฒนธรรม (unit cultural transmission)

ที่เหลืออ่านต่อกันเองที่ Wikipedia

อะไรคือ Internet Meme

ข้ามเวลามาอีกหลายสิบปีสู่ยุคของอินเทอร์เน็ต ด้วยคุณลักษณะของอินเทอร์เน็ต (และความสามารถของคอมพิวเตอร์ในการสร้างสรรค์งานดิจิทัล) ทำให้การรับส่งข้อมูลทำได้ง่ายขึ้นมาก การกระจายตัวของวัฒนธรรมตามคำนิยามเรื่อง meme ของ Dawkins จึงแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว

เดิมทีนั้น meme มีลักษณะการกระจายตัวตาม “สังคม/วัฒนธรรม” ของมนุษย์ (เช่น หมู่บ้านหรือชุมชน ขยายไปยังเมือง ประเทศ ทวีป) แต่เมื่ออินเทอร์เน็ตมีสภาพเป็น “สังคม” ขนาดมหึมา คนทั่วโลกสามารถส่งรับและกระจายข้อมูลกันได้อย่างรวดเร็ว เราจึงเห็นคนประดิษฐ์ meme กันมากมายตลอดชั่วอายุของอินเทอร์เน็ต (หรือย้อนไปถึงสมัย BBS เลยก็ได้)

องค์ประกอบทางเทคนิคของ internet meme น่าจะแบ่งได้เป็น 2 ส่วนคือ ส่วนของการสร้างสรรค์งาน (ใช้เครื่องมือจำพวก Photoshop หรือโปรแกรมแต่งภาพเป็นหลัก แต่ภายหลังก็มีเครื่องมือจำพวก meme generator เฉพาะกิจมากมาย) และส่วนของการแพร่กระจายงาน (ซึ่งก็อิงกับ social network หรือชุมชนเป็นหลัก เบสิคก็พวก Facebook/Twitter/YouTube แต่ถ้าเอาแบบจริงจังก็มีพวก 4chan/9gag/cheeseburger)

ตัวอย่างมุข LOLCats (แมวท่าแปลก+คำบรรยาย) ภาพจาก Smosh
ตัวอย่างมุข LOLCats (แมวท่าแปลก+คำบรรยาย) ภาพจาก Smosh

จุดเริ่มต้นของ internet meme คงเน้นความสนุกหรือความตลกเป็นหลัก โดยอาจยึดโยงกับกระแสในโลกความเป็นจริง (เช่น ล้อเลียนดาราหรือภาพยนตร์) หรืออาจเป็นการสร้างเรื่องราวเฉพาะตัวที่ไม่ซ้ำใครขึ้นมาบนอินเทอร์เน็ต (เช่น การ์ตูนออนไลน์อย่าง xkcd หรือวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มแบบ 4chan/reddit)

ถ้าให้ไล่รายชื่อ internet meme ทั้งหมดที่เคยมีคงเป็นเรื่องยากเกินไป (Wikipedia มีรวบรวมไว้บ้างเผื่อใครสนใจ) แต่ถ้าลองลิสต์ชื่อ meme ยอดฮิตที่เราคุ้นกันดีในรอบปีหลังๆ ก็อย่างเช่น Harlem Shake, Planking, Arrow in My Knee, Gangnam Style, Rebecca Black

ส่วนบรรดา internet meme อมตะก็อย่างเช่น LOLCats, Epic Fail (จุดเริ่มต้นของเว็บ Failed), Rage Comics, Nyan Cat เป็นต้น

ตอนนี้มีเว็บไซต์เกิดมาเพื่อ “อธิบาย internet meme” อย่าง KnowYourMeme เกิดขึ้นมาแล้ว ใครสนใจว่ามุขหรือมีมแปลกๆ พวกนี้คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร (โดยเฉพาะของฝรั่ง) ก็ตามเข้าไปอ่านกันได้ครับ

Internet Meme ฉบับ Richard Dawkins

internet meme ยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตามอัตราการใช้งานและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ก็เลยมีคนไอเดียดี (เอเยนซี่โฆษณา Saatchi & Saatchi) เชิญ Richard Dawkins มาบรรยายเรื่อง internet meme ในฐานะที่เป็นคนคิดคำนี้ขึ้นมา (ส่วนหนึ่ง) มันซะเลย

Dawkins อธิบายเรื่องนี้ว่า internet meme เป็นการ “ปล้น” (เขาใช้คำว่า hijack) นิยามดั้งเดิมของคำว่า meme และเปลี่ยนวิธีการกลายพันธุ์ meme จากแนวทางเดิมที่เน้นวิวัฒนาการแบบลองผิดลองดู (ตามทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน) มาเป็นการกลายพันธุ์ผ่าน “ความสร้างสรรค์ของมนุษย์”

Dawkins บอกว่า meme ต้นฉบับตามนิยามของเขานั้นพยายามส่งต่อกันให้ “เหมือนต้นฉบับ” เพียงแต่ศักยภาพของมนุษย์ไม่สามารถทำให้เหมือนต้นฉบับได้แบบเป๊ะๆ ส่วน internet meme นั้นกลับกันคือคนสร้าง meme ไม่เคยคิดจะรักษาต้นฉบับให้เหมือนเป๊ะตั้งแต่ต้น แต่เป็นการล้อเลียนจากต้นฉบับอย่างจงใจ

Meme ล้อ Richard Dawkins กับนักแสดง Emma Watson
Meme ล้อ Richard Dawkins กับนักแสดง Emma Watson

Dawkins บอกว่าตัวเขาเองเห็น meme ของตัวเองอยู่เรื่อยๆ ซึ่งเขาก็รู้สึกว่าสนุกดี เขาพูดถึง meme ที่นำหน้าของเขาไปเทียบกับ Emma Watson (คนเล่นเป็นเฮอร์ไมโอนีในแฮร์รี พ็อตเตอร์) ในทำนองว่า “ตัดต่อป่าวฟระ!”

อ่านบทสัมภาษณ์ของ Dawkins ในเรื่องนี้ที่ Wired

กรณีศึกษา: Chuck Norris

กรณีศึกษาที่น่าสนใจและควรค่าแก่การกล่าวถึงคือมุขที่เกี่ยวกับ Chuck Norris นักแสดงภาพยนต์แนวศิลปะป้องกันตัวชาวอเมริกัน ชื่อมุขอย่างเป็นทางการที่ถูกเรียกกันคือ “Chuck Norris facts” (มีเพจใน Wiki ด้วยนะเออ, เว็บไซต์รวบรวมมุข) ซึ่งเป็นมุขตลกล้อเลียนเชิงเหนือจริงเกี่ยวกับตัวของ Chuck Norris ที่แฟนๆ ช่วยกันประดิษฐ์ให้ แล้วนำมาเล่าต่อในแนวทางที่ (เหมือนจะ) ซีเรียสแบบหนังสือความรู้รอบตัว (แต่จริงๆ แล้วเป็นการประชดประชันแบบขำๆ) เช่น

Chuck Norris doesn’t feel pain, pain feels Chuck Norris

When Alexander Bell invented the telephone he had 3 missed calls from Chuck Norris

There used to be a street named after Chuck Norris, but it was changed because nobody crosses Chuck Norris and lives.

ข้อมูลจาก Wikipedia บอกว่ามุข Chuck Norris facts ถือกำเนิดขึ้นในปี 2005 โดยเริ่มจากรายการทีวียอดฮิตของอเมริกา Late Night with Conan O’Brien ที่ตัวพิธีกรเจ้าของรายการ Conan O’Brien เป็นคนเริ่มเล่นมุขล้อเลียน Chuck Norris แบบเกินจริงเป็นคนแรก จากนั้นกระแสนี้ก็ฮิตและกลายเป็นการเปิดกว้างให้คนบนโลกออนไลน์ร่วมกันเขียน “ชีวประวัติ” ของ Chuck Norris ขึ้นมา

ปัจจัยที่ทำให้เรื่องนี้เป็นกระแสยิ่งขึ้นไปอีกคือตัวของ Chuck เองก็รับมุขด้วย ตอนแรกๆ เขายังแบ่งรับแบ่งสู้ว่า ตลกดี แต่ก็อย่าลามปามเอาเขาไปเปรียบเทียบกับพระเจ้า (ในศาสนาคริสต์) เลย อย่างไรก็ตาม ภายหลังเขาก็ยอมรับเรื่องนี้มากขึ้น เช่น ร่วมแต่งหนังสือ The Official Chuck Norris Fact Book หรือเลือกมุขที่เขาเองก็ชื่นชอบมาโพสต์บนอินเทอร์เน็ต เช่น

Chuck Norris doesn’t read books. He stares them down until he gets the information he wants.

Outer space exists because it’s afraid to be on the same planet with Chuck Norris.

Chuck Norris does not sleep. He waits.

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ Chuck Norris โด่งดังในกระแสลักษณะนี้คงเป็นคาแรกเตอร์ของเขาที่เป็น “ดาราบู๊” ซึ่งออกแอคชั่นต่างๆ ได้เยอะกว่าดาราทั่วไป เราจึงเห็นมีมหลายอันออกมาในโทน “บ้าพลัง” หรือ “ใช้พลังข่ม” ที่ตลกๆ มากมาย (ซึ่งเป็นเรื่องลักษณะเดียวกับ มีมชัชชาติ รมว.คมนาคมที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี!!)

Chuck Norris

chucknorrisearlyyears

ตัวอย่างมีมบ้าพลังของ Chuck Norris จาก Complex.com

บ้านเราเองก็มีมุขเลียนแบบ Chuck Norris เหมือนกัน โดยหวยไปออกที่นักร้อง “โจ๊ก โซคูล” แทน (บร๊ะเจ้าโจ๊ก ก็มีลักษณะเหมือน godlike ของ Norris) ซึ่งงานนี้เจ้าตัวก็รับมุขเหมือนกัน โดยออกหนังสือ “เขาเรียกผมว่าบร๊ะเจ้า โจ๊ก โซคูล” ตอบรับกระแสมีมของตัวเองด้วย (ประเทศอื่นๆ อย่างอียิปต์ หรือ อินเดีย ก็มีมุขล้อเลียนลักษณะเดียวกันกับนักการเมืองหรือนักกีฬาบางคน)

ว่าด้วย Meme นักการเมือง

การล้อการเมืองไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เราเห็นการ์ตูนล้อการเมืองกันมานับไม่ถ้วน ถ้าเป็นเคสของเมืองไทยเองก็ยังไปไกลถึง “งิ้วการเมือง” หรือ “เดินขบวนล้อการเมือง ของ ม.ธรรมศาสตร์”

ในยุคอินเทอร์เน็ตที่โลกกว้างไกล นักการเมืองจึงถูกนำมาล้อเล่นกันเฉกเช่นเดียวกับดารา นักร้อง นักแสดง

นักการเมืองคนไหนดังหน่อย ภาพเยอะหน่อย สตอรี่เยอะหน่อย ก็ย่อมโดนล้อเยอะหน่อยเป็นธรรมดา ดูอย่างมีมล่าสุดของผู้นำโลกกับภรรเมียได้

มีม Obama ในรอบปีหลังๆ (ภาพจาก Dailytechwhip)
มีม Obama ในรอบปีหลังๆ (ภาพจาก Dailytechwhip)

เท่าที่สังเกตดู นักการเมืองทั้งไทยและเทศจะโดนล้อนั้นไม่ยาก แต่ถ้าจะให้โดนล้อให้ต่อเนื่องจนกลายเป็นมีม (โดยเฉพาะในเชิงตลกขบขัน) ได้นั้นยากพอสมควร โดยจะต้องขึ้นกับคาแรกเตอร์ของนักการเมืองคนนั้นๆ ที่ต้องเปิดกว้างและดู “เข้าถึงได้” จากคนสามัญทั่วไปด้วย

ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่ค่อยเห็นนักการเมืองสายทฤษฎี สุขุม นุ่มลึกแบบคุณชวน หลีกภัย หรือคุณจาตุรนต์ ฉายแสง โดนล้อสักเท่าไร หรือแม้แต่นักการเมืองไทยระดับผู้นำเอง เช่น ยิ่งลักษณ์ อภิสิทธิ์ ทักษิณ สุเทพ ณัฐวุฒิ จตุพร ก็น่าจะ (ย้ำว่า “น่าจะ”) โดนตัดต่อภาพในลักษณะ “ตลกขบขัน” น้อยกว่า “การโจมตีทางการเมือง” ที่หวังผลให้คนเกลียดชังหรือมีภาพลบต่อนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม

ถ้านับเฉพาะนักการเมืองไทย คนที่น่าจะถูกล้อเลียนในเชิงตลกขบขัน (แต่ไม่ถือเป็นการโจมตี) เว้นกรณีชัชชาติไว้สักคน ก็น่าจะมีแค่คุณชูวิทย์ ที่มีคาแรกเตอร์แนวๆ “เข้าถึงได้” “เล่นหัวได้” และถูกนำมาล้ออยู่บ่อยครั้ง แถมบางทีเจ้าตัวก็เล่นเองเสียด้วย

จุดจบของฝ่ายค้าน ภาพจาก Facebook Chuvit (เจ้าตัวเล่นเองเลย)
จุดจบของฝ่ายค้าน ภาพจาก Facebook Chuvit (เจ้าตัวเล่นเองเลย)

สรุปแบบสั้นๆ

  • meme เป็นพฤติกรรมของคนอยู่แล้ว มีสังคมย่อมมี meme
  • internet meme คือ meme ติดจรวด
  • meme เป็น culture เฉพาะกลุ่ม ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมบางทีเราไม่รู้จัก meme บางอัน เพราะมันเป็นค่านิยมเฉพาะกลุ่มจริง ๆ เพียงแต่อินเทอร์เน็ตทำให้กลุ่มย่อยมันใหญ่ แม้จะถือว่าเป็นกลุ่มย่อยแล้ว
  • internet meme เป็นตัวอย่างที่แสดง “พลังของยุคดิจิทัล” ได้ดี เพราะต้นทุนในการแปลงสาร (photoshop) กระจายสาร (internet) มันถูกมาก แถมจำนวนประชากรที่รับสารก็ใหญ่ขึ้นกว่า meme ในอดีตมาก โพสต์ทีคนเห็นเป็นพันเป็นหมื่น เมื่อเทียบกับสื่อในยุคอดีต
  • meme ล้อบุคคลน่าจะเป็นการแสดง “ความแบน” ของอินเทอร์เน็ตว่า “คนเท่ากัน” คือไม่ว่าคุณจะเป็นรัฐมนตรีหรือพระเจ้า ก็ถูกล้อเล่นได้ดังเพื่อนสนิทที่ตบหัวเบิ๊ดกะโหลกกันมานาน
SHARE :
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
mk
the authormk
ผู้นำจอมเผด็จการแห่งอาณาจักร Blognone ที่สาม แวะเวียนมาเขียนแถวนี้บ้างเป็นบางเพลา