ในการทำแคมเปญก็ดี ทำ Facebook Page หรือ Twitter ก็ดี ของบรรดาแบรนด์ต่างๆ ใครๆ ก็อยากให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “Viral” หรือเกิดการบอกต่อไปเรื่อยๆ อยู่แล้ว ยิ่งหลังๆ Social Network มันกลายเป็นเทรนด์ที่แทบทุกคนใช้ และหลายๆ กรณีศึกษาพิสูจน์มาแล้วว่า การทำให้คอนเทนต์ของแบรนด์นั้นๆ เกิดการบอกต่อหรือการแชร์ต่อๆ กันไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้แบรนด์นั้นเป็นที่รู้จักมากขึ้นเท่านั้น (เผลอๆ การทำแคมเปญดีๆ และเกิดไวรัลได้นั้นจะดังและแรงกว่าการไปลงโฆษณาตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ซะอีก)
อันว่าทำอย่างไรถึงจะทำให้เกิด Viral ได้นั้น ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ใช่ว่าแบรนด์นี้ทำแบบนี้จะเกิด Viral ได้ (เผลอๆ กับโดนด่าแทนที่จะเกิดการแชร์ต่อ) แต่บางแบรนด์ดันเอาวิธีเดียวกันกับอีกแบรนด์ไปใช้ แล้วดันได้ผลดีซะงั้น!!? แต่ถึงแม้จะไม่มีสูตรสำเร็จของการทำ Viral Campaign ให้เกิดได้ชัวร์ๆ แต่ Cheat Sheet ถัดจากนี้ อาจจะช่วยให้เราเข้าใจว่าควรทำ Viral อย่างไรให้ได้ผลมากขึ้นก็ได้
ทั้งนี้ ต้นฉบับเป็น Cheat Sheet ยาวๆ แนวๆ Infographic (ดูต้นฉบับได้จากลิงก์ที่มา) แต่เอาเนื้อหามาเรียบเรียงตามที่ตัวเองเข้าใจ อาจจะไม่เป๊ะทุกประโยค แต่ถ้ามีอะไรอยากถก ก็คอมเมนต์มาคุยกันได้ฮับ
1. ก่อดราม่า
(ของเดิมมันเขียนว่า Stop Being Neutral แปลเป็นไทยยังไงให้สวยๆ ฟะ ไม่เข้าใจเหมือนกัน )
ว่ากันว่าการทำ Viral Marketig เนี่ย มันเล่นกับอารมณ์ความรู้สึกล้วนๆ เพราะฉะนั้นมันเป็นไปไม่ได้หรอกที่เราจะทำแคมเปญอะไรที่มันโดนๆ แรงๆ แล้วโดนใจทุกคน เพราะฉะนั้นการสร้างกระแสให้เกิดความเห็นแรงๆ เป็นเรื่องดี ไม่ว่าคนจะชมมาหรือด่ามาก็มาเถอะ ด่ามาแรงๆ ยิ่งดี ศรีทนได้
กรณี Viral ตัวอย่าง | คลิปน้องจ๊ะคันหู
ถามว่าถ้าน้องจ๊ะแต่งชุดเทเลทับบี้มาร้องเพลง คลิปนี้จะดังขนาดนี้ไหม? คงจะไม่
เนื่องจากเนื้อหาในคลิปมันทำให้เป็นประเด็นในสังคมมาก (ทั้งกระแสชมและด่า) จนมีรายการต่างๆ เชิญน้องจ๊ะไปสัมภาษณ์กันให้รึ่ม (ดังสุดก็คงจะเป็นรายการวู้ดดี้ที่เอาน้องจ๊ะมาสัมภาษณ์และมีคำถามที่แรงๆ จนกระแสด่าน้องจ๊ะก็กลับมาเชียร์น้องจ๊ะซะงั้น)
ไม่ว่าเรื่องราวต่างๆ จะเป็นอย่างไร แต่น้องจ๊ะคันหูก็ติดอยู่ในหูของหลายๆ คนไปแล้วเรียบร้อย แถมงานชุกไปตลอดปีด้วยนะเอ้อ
2. ทำอะไรที่คนส่วนใหญ่ “คาดไม่ถึง”
ส่วนใหญ่แบรนด์ไหนๆ ก็อยากให้คนจดจำแบรนด์ตัวเองในภาพลักษณ์ที่ดี ที่เหมาะสมกับแบรนด์ เพราะฉะนั้นก็จะไม่ค่อยมีแบรนด์ไหนเอาชื่อของสินค้าผลิตภัณฑ์ตัวเองออกมาปู้ยี้ปู้ยำซักเท่าไหร่ ในที่มาเค้ายกตัวอย่างคลิป “Will it Blend?” ที่เอาบรรดาอุปกรณ์ไอทีไปปั่นๆๆๆ (และคนก็จะจำได้ว่ามีอุปกรณ์ชิ้นไหนโดนปั่นไปบ้าง) แต่ถ้าเป็นของไทยที่นึกออกตอนนี้ต้องเป็นแคมเปญนี้ของบาบีคิวพลาซ่า [กรณีศึกษา] เสี่ยเส็งเอาจริง ที่อยู่ๆ แกก็ออกมาบอกเกลียดเด็ก จับบาบีก้อนไปทรมาน (ซะงั้น) แคมเปญนี้ไม่ค่อยเกิดเสียงลบ (นอกจากมีคนออกมาดราม่าตอนเห็นบาบีก้อนจมน้ำแล้วเอาไปเทียบกับเรื่องน้ำท่วม เอ่อ…) ก็เป็นการสร้างกระแสที่แหวกแนวดี ไม่ค่อยเห็นใครเอามาสคอตของตัวเองมาทารุณอะไรแบบนี้เท่าไหร่ (เสียดายมาผิดจังหวะไปนิด ต้องรอดูว่าหลังน้ำลดเสี่ยเส็งแกจะเอาไปเอาจริงกะใครต่อนะ )
3. อย่าโฆษณา
ส่วนใหญ่อะไรที่เป็น Viral มักจะเป็นของดีจึงบอกต่อ เพราะฉะนั้นเอางบโฆษณาไปลงกับการสร้างคอนเทนต์ให้มันดึงดูดใจเถอะ เสียดายตังค์ซื้อ Ad เปล่าๆ ปลี้ๆ นะ
4. สร้างความต่อเนื่อง
ส่วนใหญ่กระแส Viral มักจะเกิดขึ้นมาตู้มนึงประดุจติดเชื้อไฟ แต่ถ้าไม่มีหัวเชื้อมาต่อ ไฟก็จะดับ ดังนั้นเราก็จะเห็นหลายๆ แคมเปญมักจะมี Loop การหล่อเลี้ยง Viral ต่างๆ กันไป
ยกตัวอย่างเช่น คลิปรู้ สู้ Flood! ที่ทำคลิปมาให้ความรู้เรื่องน้ำท่วม แต่แทนที่จะออกมาให้ความรู้แบบตู้มเดียวจบ ก็แบ่งคลิปออกเป็นตอนๆ แทน นอกจากจะดูง่ายขึ้น (คนส่วนใหญ่ชอบดูคลิปสั้นๆ 5 นาทีหลายๆ ตอน มากกว่าดูคลิปตอนเดียว 25 นาทีอยู่แล้ว) ก็ทำให้เกิดการส่งต่อที่มากขึ้น (สมมติทำคลิปเดียว ก็จะมีคนกดแชร์ 1 ครั้งต่อคลิป ถ้าทำ 5 คลิป ก็มีแนวโน้มว่าจะมีการแชร์คลิปต่อเพิ่มขึ้นตั้งเยอะแน่ะ) อะไรงี้
5. สร้างช่องทางที่ทำให้แชร์ต่อได้ง่ายๆ
ถ้าคอนเทนต์ที่อยากให้ Viral อยู่ในเว็บไซต์ เราก็อาจจะใส่ปุ่ม Like, Tweet, +1 เพื่อให้เกิดการแชร์ต่อได้ง่ายๆ ถ้าคอนเทนต์ที่อยากให้ Viral เป็นคลิปใน YouTube เราก็ต้องอนุญาตให้นำ embed code ไปแปะที่อื่นได้, หรือใส่ไฟล์คลิปลง Mediafire, 4share ให้คนโหลดต่อง่ายๆ อย่าหวง
6. สร้าง Viral ด้วยการคอมเมนต์
ยกตัวอย่างใกล้ตัว เช่น Facebook FAIL ที่วันดีคืนดีก็แปลงร่างเป็นปลาไหลเกาะกระแสแล้วดันถูกใจมหาชนซะงั้น (ดูจำนวนไลค์, คอมเมนต์, แชร์ได้ โพสต์เองยังตกใจเองเล้ย )
7. อย่าสร้างเงื่อนไขมากๆ
ในเมื่อ Viral มันคือการบอกต่อให้คนมาดูคอนเทนต์เราเยอะๆ เพราะฉะนั้นก็อย่าสร้างเงื่อนไขในการดูคอนเทนต์มากนัก บางแคมเปญกว่าจะดูได้ต้อง Register ก่อน ต้องดาวน์โหลดแอปก่อน ต้องกด Like ก่อน นู่นนี่สารพัด (จะเยอะไปไหน )
คือต้องแจงก่อนว่าถ้าจะทำแคมเปญให้เกิด “Viral” ก็อย่าสร้างเงื่อนไขอะไรให้มากนัก ยกเว้นจะมีรางวัลล่อใจจนสามารถหยวนๆ กับเงื่อนไขได้ เช่น เล่นเกมชิงรางวัล ต้องกด Like ก่อนถึงจะเล่นเกมได้ อันนี้ก็พอโอเคหน่อย แต่เชื่อเถอะว่ามีหลายๆ คนรำคาญการสร้างเงื่อนไขแบบนี้จนไม่เข้าร่วมกิจกรรมแคมเปญพวกนี้ก็มี ก็แหม แคมเปญกิจกรรมทั้งหลายมันแค่ “ชิง” รางวัล ไม่ได้หมายความว่าเข้าร่วมแคมเปญปุ๊บ จะได้รางวัลปั๊บนี่เนอะจริงไหม
ทั้งนี้ทั้งนั้นแนวทางทั้งหมดก็เอามาเป็นแค่ไอเดียขั้นต้นในการทำแคมเปญ ยังต้องอาศัยองค์ประกอบอีกหลายอย่างมาก เช่น การทำแคมเปญสร้างกระแสให้ทันกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ทำแคมเปญที่ไม่ซ้ำมาก (เช่นตอนนี้ถ้าใครผุดเทรนด์สร้างอวาตาร์มาอีกคงมีคนเล่นน้อยลงเยอะ เพราะตั้งแต่มีปลาไหลมานี่ มีแอปสร้างอวาตาร์ตามมาอีกเป็นกุรุส) หรืออาจจะทำแคมเปญที่เคยมีคนทำไปแล้วเมื่อนานมาแล้ว แล้วเอามาปัดฝุ่นใหม่ รวมถึงการวิเคราะห์ลักษณะนิสัยของคนไทยควบคู่ไปด้วย บางทีกรณีศึกษาเจ๋งๆ ที่ประสบความสำเร็จในเมืองนอก ก็ไม่ใช่ว่าจะทำแล้วเวิร์กในเมืองไทยเนอะ
ก็ขอเป็นกำลังใจให้คนที่กำลังจะสร้างกระแส Viral จ้ะ อยากเห็นแคมเปญ Viral เจ๋งๆ ดีๆ ในไทยอีกเยอะๆ เย้ๆๆๆ